ขอต้อนรับสู่ ยางพันธุ์ดีพัทลุง ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ผลิตยางพันธุ์ดี เป็นรายแรก ของจังหวัดพัทลุง ***รับรองพันธุ์แท้โดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ตอนนี้เปิดจอง สายพันธุ์408 แล้ว ข่าวดี....แปลงแม่ขลีพัทลุง เปิดบริการแล้ว ***

ชนิดและส่วนประกอบของมีดกรีดยาง

มีดเจ๊ะบงใช้กรีดยางพารามานานกว่า 100 ปี มากว่า 20 ประเทศผู้ปลูกยางพารา
          มีดกรีดยางที่เกษตรกรชาวสวนยางพารามากกว่า 20 ประเทศที่ปลูกยางพารา รวมทั้งประเทศไทยด้วยนิยมใช้ในการเก็บเกียวผลผลิตน้ำยางจากต้นยางพารา หรือ “กรีดยาง” มาเป็นเวลามากกว่า 100 ปีแล้ว เรียกกันว่า “มีดเจ๊ะบง” หรือ Jebong โดยการกรีดยางด้วยมีดเจ๊ะบงจะเป็นการใช้แรงจากส่วนของข้อมือเพื่อกระตุกให้คมมีดเฉือนเปลือกยางด้วยความเร็วเพื่อให้เปิดท่อน้ำยางไปตามรอยกรีด  มีดเจ๊ะบงเป็นมีดกรีดยางที่ใช้สำหรับกรีดลง ไม่สามารถกรีดขึ้นด้านบนได้ มีดที่กรีดขึ้นด้านบนได้เรียกว่า “มีดเก๊าท์”
ในปัจจุบันนี้ แม้จะได้ยินข่าวเกี่ยวกับมีดกรีดยางแบบอื่น ๆ บ้าง เช่น มีดกรีดยางแบบมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งคิดค้นและผลิตโดยคนไทย ก็ยังอยู่ในระยะทดลอง และยังไม่พบรายละเอียดถึงเทคนิคการทำงานของมีดดังกล่าวในด้านต่าง ๆ ในทรรศนะของผู้เขียนเองเชื่อว่า มากกว่า 100 ปีที่ผ่านมา แม้เทคโนโลยีอื่น ๆ จะเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปมากมาย แต่สำหรับมีดกรีดยางแล้ว คงอีกนานพอสมควรที่จะมีมีดกรีดยางชนิดอื่นเข้ามาทดแทนมีดกรีดยางที่เรียกว่า “มีดเจ๊ะบง” ได้
ในลำดับต่อไป เราจะได้ทำความเข้าใจว่าผลของการกรีดยางที่ถูกต้องมีผลดีต่อสวนยางพาราของเราอย่างไร การจะกรีดยางให้ถูกต้องได้ตามความต้องการต้องมาจากการลับมีดที่ถูกต้อง ก่อนการลับมีด เราต้องมาทำความรู้จักกับส่วนต่าง ๆ ของมีดกรีดยางกันก่อน (ในที่นี้จะขอแนะนำเฉพาะมีดเจ๊ะบง ซึ่งเป็นมีดที่ใช้กรีดยางหน้าต่ำ(หรือหน้าธรรมดานั่นเอง)หรือหน้าสูงก็ได้เช่นกัน แต่กรีดในลักษณะกรีดลง) เพราะเวลาเราพูดถึงส่วนใด ๆ ของมีด ก็จะได้เข้าใจตรงกัน

ส่วนประกอบของมีดเจ๊ะบง


ข้อมูลจาก www.live-rubber.co.th


ยางพันธุ์ใหม่ RRIT408 ผลผลิตสูง ทนแล้งได้ดี

RRIT408 ผลผลิตสูง ทนแล้งได้ดีเหมาะปลูกที่อีสาน

         ยางพันธุ์ใหม่ "RRIT 408" ผลงานวิจัยล่าสุดของสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานวิจัยยางให้กับ สกย.  จุดเด่นของยางพันธุ์ใหม่นี้ ปลูกง่าย โตไว ให้ปริมาณน้ำยางสูง เฉลี่ย 352 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี มากกว่า RRIM 600 ถึงร้อยละ 62  ค่อนข้างต้านทานต่อใบร่วงไฟทอฟธอรา,ใบจุดก้างปลา ต้านทานปานกลางต่อราแป้ง,ใบจุดคอลเลโทตริกัม, โรคเส้นดำ และราสีชมพู ที่สำคัญ ทนความแห้งแล้งได้ดี ต้านทานลม ปานกลาง เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่ภาคอีสาน

        ยางพันธุ์นี้ สถาบันวิจัยยางใช้เวลากว่า 25 ปีในการทดสอบสายพันธุ์ที่ผ่านแปลงทดลองตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการเปิดกรีดและขณะนี้ได้เปิดกรีดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ณ แปลงทดลองของศูนย์วิจัยยางฉะเชิงเทรา ซึ่งผลผลิตน้ำยางดีมาก และเตรียมขยายผลไปยังพื้นที่ปลูกในภาคอีสานต่อไป เนื่องจากยางพาราสายพันธุ์นี้ปลูกง่าย โตไว ให้ผลผลิตน้ำยางสูง ที่สำคัญสามารถทนความแห้งแล้งได้ดีกว่าพันธุ์อื่น

      การเลือกพันธุ์ยางปลูกในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน เพราะยางแต่ละพันธุ์มีความเหมาะสมต่างกัน ในพื้นที่ปลูกที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกยางเดิมในภาคใต้และภาคตะวันออก หรือพื้นที่ปลูกยางใหม่ในภาคอีสาน เหนือและกลาง ซึ่งเจ้าของสวนยางจะต้องคำนึงถึงผลตอบแทนที่จะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยางหรือเนื้อไม้ หรือทั้งน้ำยางและเนื้อไม้เพื่อจะได้เลือกพันธุ์ยางได้ถูกต้องและได้ผลตอบแทนตามที่หวัง

     "บางครั้งระดับน้ำในดินมีผลต่อการทำงานของรากยางด้วย อย่างพันธุ์ RRIT 251 และอาร์อาร์ไอเอ็ม (RRIM) 600 ไม่เหมาะที่จะปลูกในแปลงที่มีระดับน้ำใต้ดินตื้น แต่บางพันธุ์สามารถปลูกได้ดีเช่น บีพีเอ็ม (BPM) 24 หรืออย่างโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา ยางพันธุ์อาร์อาร์ไอเอ็ม (RRIM) 600 มักจะมีปัญหา แต่พันธุ์พีบี (PB) 255 กลับมีความต้านทานได้ดีกว่า แม้ผลผลิตน้ำยางจะน้อยกว่าอาร์อาร์ไอเอ็ม (RRIM) 600 ก็ตาม"

      จากอดีตจนปัจจุบันมียางหลายพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยยางส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก โดยแต่ละสายพันธุ์จะมีจุดเด่นจุดด้อยที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเป้าหมายของผู้ปลูกหรือเจ้าของสวนยางว่าจะเน้นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตน้ำยางเป็นหลัก หรือพันธุ์ที่ให้ผลผลิตเนื้อไม้เป็นหลัก หรือพันธุ์ที่ให้ทั้งน้ำยางและเนื้อไม้ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์ก็จะเหมาะกับพื้นที่ปลูกที่แตกต่างกันไปด้วย

ข้อมูลจาก www.km.rubber.co.th 



การผลิตและการปลูกต้นยางชำถุง

          วัสดุปลูกที่แนะนำสำหรับการปลูกสร้างสวนยางมีอยู่หลายชนิด เช่น ต้นตอตายาง ต้นยางชำถุง และต้นกล้าติดตาในแปลง เป็นต้น
          แต่ละชนิดที่เกษตรกรนิยมใช้ปลูกสร้างสวนยางกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ ต้นยางชำถุง ทั้งนี้เพราะเป็นวิธีการที่ได้รับผลสำเร็จสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น ๆ การเจริญเติบโตของต้นยางหลังจากปลูกไม่หยุดชะงัก ได้ต้นยางที่เจริญเติบโตสม่ำเสมอ ช่วยลดช่วงระยะเวลาดูแลรักษาสวนยางอ่อนให้สั้นลง สามารถเปิดกรีดได้เร็วกว่าการปลูกด้วยต้นตอยาง และต้นกล้าติดตาในแปลง นอกจากนี้ต้นยางชำถุงยังเหมาะสำหรับใช้เป็นต้นยางปลูกซ่อมได้ดีอีกด้วย

การผลิตต้นยางชำถุง

การผลิตต้นยางชำถุงโดยทั่วไปสามารถผลิตได้ 2 วิธีคือ
  1. การปลูกต้นกล้าเพื่อติดตาในถุง
  2. การปลูกด้วยต้นตอยาง
          สำหรับวิธีการปลูกต้นกล้าเพื่อติดตาในถุง โดยการปลูกต้นกล้าในถุงเมื่อต้นกล้าอายุ 6-8 เดือน หรือลำต้นของต้นกล้าที่บริเวณติดตามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยว่า 1.0 ชม. จึงทำการติดตา จากการศึกษาในประเทศมาเลเซียพบว่า การติดตาในถุงขนาด 8x20 นิ้ว ประสบผลสำเร็จร้อยละ 92-95 ส่วนในประเทศไทยนิยมติดตาในถุงเฉพาะในบางพื้นที่ที่มีปัญหาหน้าดินตื้น ไม่สามารถปลูกสร้างแปลงกล้ายางได้ โดยมักใช้ถุงขนาด 3 1/2 x 12 นิ้ว ซึ่งยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่า การติดตาได้รับผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าการปลูกต้นกล้ายางในถุงเป็นระยะเวลานาน ๆ สภาพของต้นกล้ายางมีความสำบูรณ์ค่อนข้างต่ำ เพราะเจริญเติบโตในถุงที่มีดินจำกัด ระบบรากของต้นยางบางส่วนจะม้วนเป็นก้อนบริเวณก้นถุง และบางส่วนจะแทงทะลุก้นถุงลงในดิน เมื่อขนย้ายไปปลูกจะทำให้ระบบรากขาด และมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยางติดตาในถุง นอกจากนี้ยังพบว่าถุงที่บรรจุดินมีสภาพฉีกขาดเสียหายเพราะแสงแดดเผา           ส่วนการผลิตต้นยางชำถุงด้วยวิธีการปลูกต้นตอตายาง เป็นวิธีการที่นิยมปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง โดยการนำต้นตอตายางมาปลูกในถุงที่บรรจุดินขนาด 4 1/2 x 14 นิ้ว ดูแลรักษานานประมาณ 50-60 วัน ก็จะได้ต้นยางชำถุงขนาด 1 ฉัตร พร้อมที่จะขนย้ายไปลูกในแปลง

1. การเลือกสถานที่สร้างแปลง

    • ควรตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และมีน้ำเพียงพอตลอดปี
    • ควรเป็นพื้นที่ราบ มีการระบายน้ำดี
    • ควรตั้งอยู่ในแหล่งที่มีการปลูกสร้างสวนยาง
    • การคมนาคมสะดวก

2. การจัดเตรียมแปลง และโรงเรือน >>>> อ่านต่อ Click

3. การจัดเตรียมวัสดุสำหรับการผลิต >>>> อ่านต่อ Click

4. การใช้สารฮอร์โมนกับต้นตอยาง  >>>> อ่านต่อ Click

5. การปักชำต้นตอยาง  >>>> อ่านต่อ Click

6. การเก็บรักษาต้นตอตายาง  >>>> อ่านต่อ Click

7. การดูแลรักษาต้นยางชำถุง  >>>> อ่านต่อ Click

8. การขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูก   >>>> อ่านต่อ Click

การปลูกต้นยางชำถุง

การปลูกต้นยางชำถุง อ่านรายละเอียด  >>>> อ่านต่อ Click

การปลูกต้นยางชำถุง

  1. การเตรียมพื้นที่ปลูก  หลังจากโค่นต้นยางเก่า และนำไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้ออกจากแปลงหมดแล้ว จำเป็นต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการปลูกดังนี้
    • ไถพลิกดิน 2 ครั้ง เก็บเศษไม้ และซากไม้ที่ยังเหลืออยู่นำมารวมกองเป็นจุด ๆ ในแปลงแล้วเผาปรน
    • ไถพรวน 1 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ร่วนซุย
    • ปักไม้ชะมบตามระยะปลูกที่กำหนดไว้
  2. การปลูกหลุมปลูกยาง
    • ขุดหลุมปลูกขนาดกว่้าง x ยาว x ลึก เท่ากับ 50x50x50 เซนติเมตร
    • แยกดินบน และดินล่างออกจากกัน ตากแดดไว้ประมาณ 10-15 วัน เมื่อดินแห้งแล้วย่อยดินบนให้ร่วนแล้วกลบลงหลุมครึ่งหนึ่งของหลุม สำหรับดินล่างเมื่อย่อยแล้วผสมปุ๋ยหินฟอสเฟต 25% สูตร 0-3-0 อัตรา 170 กรัม/หลุม
  3. หลักในการเลือกต้นยางชำถุงปลูก  ต้นยางชำถุงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง และมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จในการปลูก และการเพิ่มศักยภาพการจัดการสวนยาง ดังนั้นการเลือกต้นยางชำถุงปลูกต้องพิจารณาตามหลักการดังนี้
    1. ต้นยางชำถุงมีลักษณะถูกต้องตามพันธุ์ และมีคุณภาพดี
    2. พิจารณาพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้ดีตามสภาพแวดล้อมและต้านทานโรคต่าง ๆ ดี
    3. ต้นยางชำถุงที่ได้มาตรฐาน ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
      • เป็นต้นติดตาที่สมบูรณ์ เจริญเติบโตอยู่ในถุงพลาสติก ฉัตรมีขนาดตั้งแต่ 1 ฉัตร แก่ขึ้นไป โดยฉัตรยอดมีใบแก่เต็มที่ เมื่อวัดจากรอยแตกตาถึงปลายยอดมีความยาวไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร
      • ถุงพลาสติก ที่ใช้เพาะชำขนาดประมาณ 4 1/2 x 14 นิ้ว เป็นอย่างน้อย และเจาะรูระบายน้ำออก
      • ดินที่ใช้บรรจุถุง จะต้องมีลักษณะค่อนข้างเหนียว เมื่อย้ายถุงดินไม่แตกง่าย มีดินบรรจุถุงสูงไม่น้อยกว่า 10 นิ้ว
      • ต้นตอตาที่นำมาชำถุง ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่สถาบันวิจัยยางกำหนด
      • ต้นยางชำถุงต้องปราศจากโรค และศัตรูพืช และไม่มีวัชพืชขึ้นในถุง
  4. ขั้นตอนการปลูกต้นยางชำถุง
    1. ใช้มีดคม ๆ กรีดก้นถุงออกประมาณ 1 นิ้ว ถ้ามีรากม้วนเป็นก้อนบริเวณก้นถุงให้ตัดรากที่ม้วนออก
    2. วางต้นยางชำถุงในหลุม แล้วกรีดถุงจากก้นถึงปากถุง ทั้งสองด้าน ให้ขาดออกจากกัน กลบดินลงหลุมจนเกือบเต็ม
    3. ดึงถุงพลาสติกออกในขณะที่ดึงต้องระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก
    4. หลังจากดึงถุงออกแล้ว เอาดินกลบจนเสมอปากหลุม และพูนดินบริเวณโคนต้นให้สูงเล็กน้อย เพื่อป้องกันน้ำขังในหลุมปลูก
  1. ข้อควรคำนึง
    1. ควรปลูกต้นยางชำถุงในช่วงต้นฤดูฝน และมีปริมาณฝนตกอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอ
    2. ในการขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูก อย่าให้ดินในถุงแตก เพราะจำทำให้ต้นยางตาย
    3. ในการปลูกต้นยางชำถุง ต้องระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก เพราะจะทำให้ระบบราก กระทบกระเทือน และการปลูกต้องอัดดินบริเวณห่างจากโคนต้นเล็กน้อยให้แน่น
    4. ถุงขนาด 4 1/2 x 14 นิ้ว เหมาะสำหรับการเลี้ยงต้นยางชำถุงไม่เกิน 2 ฉัตร
    5. ต้นยางชำถุงที่ย้ายปลูก ต้องมีฉัตรใบที่แก่ โดยสังเกตจากยอดของฉัตรเริ่มผลิยอดอ่อนปุ่มขึ้นมา

พันธุ์ยาง RRIT408(984)


คุณกัลยา แนะนำ และวิธีการการดูลักษณะใบ ของสายพันธุ์ RRIT408(984)

การขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูก

          เมื่อต้นยางชำถุงเจริญเติบโตได้ 1-2 ฉัตร มีใบแก่เต็มที่ โดยสังเกตจากยอดของฉัตรเริ่มผลิยอดอ่อนเป็นปุ๋มขึ้นมา จนขนย้ายไปปลูกในแปลงได้ กรณีขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูกขณะที่ฉัตรยังมีใบอ่อน หรือเป็นเพสลาด จะทำให้ต้นเหี่ยวเฉาโดยเร็วและอาจตายในที่สุด และในขณะขนย้ายต้องระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก เพราะหากดินในถุงแตกจะมีผลทำให้ต้นยางชำถุงมีอัตราการตายสูง


การดูแลรักษาต้นยางชำถุง

  1. การรดน้ำ  ควรให้น้ำในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของต้นยางชำถุง อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป ถ้ามากเกินไปอาจทำให้น้ำท่วมขังในแปลงได้ และบางครั้งอาจทำให้โรคบางชนิดระบาดในแปลงได้ง่าย แต่ถ้าน้อยเกินไปจะทำให้ดินในถุงแห้ง ซึ่งจะส่งผลต่อตาที่กำลังผลิออกมา ชะงักการเจริญเติบโต และตายได้ ดังนั้นจึงควรให้น้ำทุกวันในเช่วงเช้าและเย็น
  2. การใส่ปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยเม็ดสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยผสมสูตร 20-8-20 ในแหล่งปลูกยางเดิม และสูตร 20-10-12 ในแหล่งปลูกยางใหม่ อัตรา 5 กรัม ต่อถุง ใส่หลังจากตาผลิออกมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ และใส่ครั้งต่อไปทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ การใส่ปุ๋ยควรระมัดระวังเพราะปุ๋ยถูกใบอ่อนของต้นยางจะทำให้ใบเกิดรอยไหม้
  3. การกำจัดวัชพืช  วัชพืชที่งอกในถุงที่ปักชำต้นยางอยู่นั้น จะเป็นตัวการแย่งน้ำและอาหาร ทำให้ต้นยางชำถุงเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงควรควบคุมและกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ โดยการใช้แรงงานถอนขณะที่ดินมีความชื้นสูง เพราะถอนได้ง่าย และกระทบกระเทือนต่อระบบรากน้อย
  4. การตัดกิ่งแขนง  หลังจากปักชำต้นตอตายางในถุงแล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะเริ่มมีกิ่งแขนงที่แตกออกมาจากตาของต้นเดิม กิ่งแขนงเหล่านี้จำเป็นต้องตัดทิ้งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพราะหากปล่อยเอาไว้จะมีผลทำให้ตาที่ติดเอาไว้ไม่แตก หรือมีผลต่อตาที่แตกแล้ว ทำให้ต้นเคระแกรนไม่เจริญเติบโต
  5. การคัดต้นยางชำถุงทิ้ง  ในการผลิตต้นยางชำถุง มักจะพบต้นที่มีลักษณะผิดปกติอยู่เสมอ ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากนำต้นตอตายางที่มีคุณภาพต่ำมาปักชำ การจัดการการผลิตไม่ได้มาตรฐาน และต้นยางชำถุงได้รับความเสียหายรุนแรงจากโรค ถ้าต้นยางชำถุงมีลักษณะผิดปกติให้คัดทิ้งทัน ไม่แนะนำไปปลูก มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายในภายหลัง
  6. การป้องกันกำจัดโรค  โรคที่ระบาดและทำความเสียหายให้กับต้นยางชำถุงเกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น โรคราแป้ง โรคใบจุดตานก โรคใบจุดนูน และโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา ซึ่งโรคแต่ละชนิดจะแพร่ระบาดในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป

การเก็บรักษาต้นตอตายาง

          ตามปกติต้นตอตายางที่ขุดถอนขึ้นมาแล้ว ควรนำไปปลูกให้เสร็จโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ความงอกสูญเสียไป Keaopbamrang (1977) ได้รายงานผลการนำต้นตอตายางจากแปลงขยายพันธุ์ยางไปปลูกยังแปลงปลูกมีระยะสูงสุดเพียง 5 วัน ถ้าช้าไปกว่านี้ ต้นตอตายางจะตายถึง 20-30% แต่ในบางครั้งมีความจำเป็นไม่สามารถปลูกได้ทันที เนื่องจากต้องขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งปลูกเป็นระยะไกล ๆ หรือบางครั้งต้องชะลอการปลูกเอาไว้ ดังนั้นการปฏิบัติต่อต้นตาตายางโดยใช้วิธีการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุของต้นตาตายางให้มีความงอกอยู่ได้นานมากที่สุด สถาบันวิจัยยางมาเลเซีย (1982) ได้แนะนำวิธีการบรรจุต้นตอตายางในห่อพลาสติกสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน 20-25 วัน จะช่วยลดปัญหาต้นตอตายางแห้งตายและเสียหายในระหว่างการขนส่งได้เป็นอย่างดี Premakumari et. Al. (1974) ได้รายงานว่าระดับความชื้นในการเก็บรักษาเป็นปัจจัยในการคงความงอกของต้นตอตายาง

      

          จรินทร์ และคณะ (2521) ได้ทดลองนำต้นตอตาเขียวพันธุ์ GT1 RRIM600 PB5/51 บรรจุลังซึ่งรองด้วยฟางข้าว ใช้เวลาในการขุดถอนและขนย้ายเป็นเวลา 3 วัน แล้วทยอยปลูกทุกวันช่วง 14 วัน ต้นตอตาเขียวที่รอการปลูกจะเก็บไว้ในที่ร่ม โดยปิดฝาลังเอาไว้และรดน้ำวันละครั้ง ผลปรากฏว่าต้นตอตาเขียวที่ปลูกวันที่ 8 ของการเก็บ จะให้ผลสำเร็จในการปลูกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการเก็บรักษาต้นตอตายางที่ปฏิบัติได้ง่ายและสะดวกที่สุด โดยการนำต้นตอตายางวางเรืองบนฟางข้าวแล้วใช้ฟางคลุมปิดอีกครั้ง รดน้ำให้ชุ่มเพื่อรักษาความชื้น วิธีการนี้เรียกว่าบ่มต้นตอตายาง ซึ่งการบ่มต้นตอตายางไม่ควรบ่นนานเกิน 10 วัน เพราะต้นตอตายางที่เก็บรักษาไว้อาจเน่าเสียได้ สำหรับในบางท้องที่ที่ไม่สามารถหาฟางข้าวมาคลุมต้นตอตายางได้ อาจใช้กระสอบป่านแทนก็ได้

การปักชำต้นตอตายาง

การปักชำต้นตอตายาง มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
  1. รดน้ำให้ดินในถุงชุ่มชื้นจนอ่อนตัวมากที่สุด แต่ถ้าต้นตอตายางที่จะปักชำมีจำนวนน้อยก็อาจจะนำถุงที่บรรจุดินแล้วมาแช่น้ำก่อนปักชำต้นตอตายางก็ได้
  2. ใช้ไม้ปลายแปลมหรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีปลายแหลม และมีขนาดเล็กกว่าต้นตอตายาง แทงดินในถุงให้เป็นหลุมลึกน้อยกว่าความยาวของรากต้นตอตายางที่ตัดไว้
  3. นำต้นตอตายางที่เตรียมไว้แล้วมาปักชำในถุง โดยให้รากแก้วจมลงไปจนถึงรอยต่อคอดินระหว่างรากกับลำต้น
  4. อัดดินบริเวณรอบโคนต้นของต้นตอตายางที่ปักชำให้แน่น ให้ตำแหน่งของแผ่นตาอยู่เหนือผิวดินประมาณ 2 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง แล้วนำต้นตอตายางที่ปักชำไปว่างเรืองในโรงเรือนที่มีการพรางแสงต่อไป

การใช้สารออร์โมนกับต้นตอตายาง

ฮอร์โมนต้นตอยาง
          การใช้สารฮอร์โมนหรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช (Plant growth regulators) ในกลุ่มออกซิน (Auxins) กับต้นตอตายาง โดยทาบริเวณรากแก้ว จะช่วยกระตุ้นให้เกิดจุดกำเนิดรากและการพัฒนาของรากแขนงได้เร็วและมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวน ปริมาณ และความยาวของรากแขนงมากขึ้นกว่าการไม่ใช้สาร (Pakianathan et. Al.,1978) จากการศึกษาการใช้สารออกซินเร่งรากแขนงของ Hafsah และ Pakianathan (1979) ได้พบว่าการใช้ Indolebutyric acid (IBA) 2,000 ppm. ในรูปดินขาวผม Captan-50 (5%) และโปแตสเซียมไนเตรท (1% KN03) มีประสิทธิภาพในการเร่งรากแขนงข้างมากที่สุด วิสุทธิ์ (2526) ได้รายงานว่าการใช้ IBA 3,000 ppm. ในรูปผงดินขาวผสมน้ำ 2.5 เท่า จุ่มรากต้นตอตายางก่อนปลูก ทำให้ต้นตอตายางเจริญเติบโตสม่ำเสมอดีกว่า ทำให้ต้นยางทนต่อสภาวะอากาศแล้วได้ดีกว่าปกติ สามารถลดอัตราการตายของต้นยางลงได้มากกว่า 50% ส่วนค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นต้นละ 30 สตางค์ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร IBA ที่เตรียมไว้ในรูปผงผสมดินขาวสามารถเก็บไว้ในที่มืด ในสภาพอุณหภูมิปกติได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่เสื่อมคุณภาพ
          Hafsah (1982) รายงานผลการทดสอบสารเร่งการแตกตาของต้นตาตายางพันธุ์ RRIM600 ผลการแตกตาหลังจากใช้สารแล้ว 2 เดือน ปรากฏว่าเบนซิลอดินิน (BA) 2,000 ppm. สามารถกระตุ้นการแตกตาได้ดีกว่าการใช้สาร GA, kinetin, ethylene และต้นที่ไม่ใช้สาร
          สาร IBA มีคุณสมบัติเป็น auxin ซึ่งมีผลต่อการเกิดและพัฒนาของรากแขนง ส่วนสาร BA ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่ม Cytokinin มีคุณสมบัติแก้การฟักตัวของตาข้าง กระตุ้นให้มีการแบ่ง cell อิทธิพลของสารทั้งสองในการเลี้ยงเนื้อยเยี่อของพืชชนิดต่าง ๆ หลายชนิดพบว่าสารทั้งสองกลุ่มนี้มักกะมีปฏิกริยาสัมพันธุ์กัน คือถ้าในอาหารที่เลี้ยงมี auxins สูง จะทำให้เนื้อเยื่อเกิดรากมาก แต่ถ้าในอาหารมี Cytokinins สูง เนื้อเยื่อจะมีการเจริญเติบโตทางด้านตามาก แต่จะเกิดรากน้อย (Bidwell. 1979) และจากการศึกษาอิทธิพลของสารทั้งสองชนิดกับต้นตอตายางของชัยโรจน์ (2528) พบว่าสาร Ba ได้แสดงผลต่อการเร่งการแตกตาตั้งแต่อายุ 1 สัปดาห์  ส่วนสาร IBA เริ่มแสดงอิทธิพลเมื่ออายุ 3 สัปดาห์ การใช้สาร IBA ความเข้มข้น 3,000 ppm. ให้ผลสูงสุดในการเร่งการแตกตาและการเจริญเติบโตของต้นตอตายาง แต่ไม่แตกต่างกับการใช้ IBA 2,000 ppm. การใช้ IBA ร่วมกับ BA จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตและการแตกตาได้ดีขึ้น สาร BA ควรใช้ความเข้มข้น 2,000 ppm. ในรูปของแป้งเปือกได้ผลดีกว่าการใช้ในรูปสารละลาย
1. การเตรียมและการใช้ฮอร์โมนเร่งราก  กรณีต้องการ IBA ความเข้มข้น 3,000 ppm. สามารถเตรียมได้ดังนี้
  • ชั่งสาร IBA บริสุทธิ์จำนวน 3 กรัม ด้วยเครื่องชั่งชนิดละเอียด ใส่ในถ้วยแก้วขนาด 50 มล. รินแอลกอฮอล์ 95% จำนวน 20 มล. ลงในถ้วยแก้ว ใช้แท่งแก้วขนาดเล็กคนจนละลายหมดแล้วเทลงผสมในแอลกอฮอร์ 50% จำนวน 480 มล. รวมเป็น 500 มล.
  • ชั่งดินขาว 1 กิโลกรัม KNO3 10 กรัม และ Captan-50 50 กรัม แล้วนำ IBA ที่ละลายในแอลกอฮอร์ 500 มล. ผสมน้ำ 2 ลิตร คนให้อยู่ในสภาพแขวนลอย
  • นำต้นตอตายางที่ตัดแต่งรากแขนง และรากฝอยออกจนหมดแล้ว มาจุ่มในสารละลาย IBA ที่เตรียมไว้ให้ทั่วรากแก้ว แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มให้สารละลายแห้ง จึงนำไปปักชำในถุง
2. การเตรียมและการใช้ฮอร์โมนเร่งการแตกตา กรณีต้องการ BA ความเข้มข้น 2,000 ppm. สามารถเตรียมได้ดังนี้
  • ชั่งสาร BA บริสุทธิ์จำนวน 2 กรัม ด้วยเครื่องชั่งชนิดละเอียด ใส่ในถ้วยแก้วขนาด 50 มล. รินแอลกอฮอล์ 95% จำนวน 20 มล. ลงในถ้วยแก้ว ใช้แท่งแก้วขนาดเล็กคนจนละลายหมดแล้ว
  • ชั่งลาโนลิน จำนวน 500 กรัม แล้วทำให้เหลวโดยอาศัยความร้อน จากนั้นจึงน้ำ BA ที่ละลายในแอลกอฮอล์มาเทงในลาโนลินที่ละลายแล้ว คนให้เข้ากันแล้วตั้งไว้ให้เย็น ลาโนลินจะคืนสภาพเป็นครีมเหนียว ๆ
  • ใช้พู่กันจุ่มสาร BA ในรูปครีมเหนียว ไปป้ายบริเวณตาของต้นตอตายางที่ต้องการให้แตกออกมา

การจัดเตรียมวัสดุสำหรับการผลิต

  1. ถุงพลาสติก  ควรใช้ถุงพลาสติกสีดำที่มีคุณภาพดี ซึ่งมีอายุใช้งานในสภาพกลางแจ้งได้เป็นเวลานาน ถ้าเลือกถุงราคาถูก และไม่มีคุณภาพจะทำให้ถุงฉีกขาดเร็ว ซึ่งจะเกิดปัญหาในการเปลี่ยนถุง ขนาดของถุงที่เหมาะสมสำหรับผลิตต้นยาง 1-2 ฉัตร ควรมีขนาด 4 1/2 x 14 นิ้ว หรือ 11 x 35 เซนติเมตร มีความหนาประมาณ 0.05 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อบรรจุดินแล้วจะมีน้ำหนัก ประมาณ 2 กิโลกรม ถุงต้องมีรูระบายน้ำด้านข้างขนาด 3 มิลลิเมตร จำนวน 3 แถว ๆ ละ 5-6 รู โดยห่างจาก้นถุงประมาณ 1-2 นิ้ว
  2. ดินบรรจุถุง  ควรเลือกเฉพาะหน้าดินที่เป็นดินร่วนเหนียวที่มีความสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี และมีความเป็นกรดเป็นด่างระหว่าง 4-5-5 ถ้าเป็นดินเหนียวควรผสมด้วยวัสดุอื่น ๆ เช่น ทราย แกลบ หรือขุยมะพร้าว อัตรา 2:1 (ดิน 2 ส่วน ต่อวัสดุปลูก 1 ส่วน) ในการเตรียมดินบรรจุถุงควรผสมปุ๋ยหินฟอสเฟต (0-3-0) ประมาณ 10 กรัมต่อถุง  หรือประมาณ 5 กิโลกรัมต่อดิน 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถนำไปบรรจุถุงได้ประมาณ 500 ถุง ข้อควรระวังคือต้องใช้ดินร่วนปนเหนียวที่ไม่แตกออกจากกันเวลาขนย้ายต้นยางไปปลูกในแปลง  ถ้าดินแตกออกจากกันจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อระบบราก และอาจทำให้ต้นยางตายได้ สำหรับการบรรจุดินลงถุงควรอัดดินให้แน่นพอสมควร และควรบรรจุดินล่วงหน้าก่อนการปักชำต้นยางหลังจากบรรจุดินเสร็จแล้ว ควรรดน้ำพอประมาณเพื่อให้ดินยุบ หลังจานั้น 1-2 วันควรเติมดินให้อยู่ระดับต่ำกว่าปากถุงที่พับแล้ว 2-3 เซนติเมตร
  3. ต้ตตอตายาง  ต้องเป็นต้นตอตายางที่มีคุณภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง ได้ขนาดตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร และตัดแต่งรากเรียบร้อยแล้ว ส่วนต้นที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น ต้นที่มีราคคดงอ รากแก้วขาดสั้นและมีหลายราก แผ่นตาเสียหายบางส่วน แผ่นตาติดไม่สนิทกับลำต้น ต้นที่มีขนาดเล็กและโตกว่ามาตรฐาน ต้นที่มีส่วนหนึ่งส่วนใดเสียหายจาการขุดถอน  และต้นที่มีโรค และแมลงรบกวน ต้นเหล่านี้ต้้องคัดทิ้งไปไม่ควรนำมาผลิตต้นยางชำถุง

ต้นตอตายางที่ได้มาตรฐาน ควรมีคุณสมบัติดังนี้

  1. รากแก้วสมบูรณ์ มีรากเดียว ลักษณะไม่คดงอ เปลือกหุ้มรากไม่เสียหาย
  2. ความยาวของรากวัดจากโคนคอดินไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร
  3. ต้นตอตายางมีลำต้นสมบูรณ์ตรง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่ตาระหว่าง 0.9-2.5 เซนติเมตร
  4. ความยาวของลำต้นจากโคนคอดินถึงตาไม่เกิน 10 เซนติเมตร และจากตาถึงรอยตัดลำต้นจะต้องไม่น้อยกว่า 8 เซนติเมตร
  5. แผ่นตาเขียวมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 0.9 เซนตเมตร ความยาวไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร สภาพแผ่นตาสมบูรณ์แนบติดสนิทกับต้นตอ ไม่เป็นสีเหลือง หรือรอยแห้งเสียหาย ตำแหน่งของตาต้องไม่กลับหัว และควรเลือกใช้ตาก้านใบ
  6. แผ่นตาที่นำมาติดได้จากแปลงกิ่งตายางที่ได้รับการรับรองจจากกรมวิชาการเกษตร
  7. ต้นตอตายางต้องอยู่ในสภาพสดสมบูรณ์ ปราศจากโรคและศัตรูพืช

การจัดเตรียมแปลง และโรงเรือน

  1. การเตรียมพื้นที่  ปรับพื้นที่ของแปลงเพาะให้เรียบสม่ำเสมอ หรือลาดเอียงเล็กน้อย และควรขุดคูรอบ ๆ แปลงเพาะเพื่อเป็นทางระบายน้ำ
  2. การพรางแสง  ในระยะแรกของการปักชำ ขณะที่ต้นยางชำถุงยังไม่มีรากใหม่ และตายังไม่แตกออกมา จะต้องทำการพรางแสงเพื่อลดความเข้มของแสงลง ให้ปริมาณแสงผ่านลงไปในโรงเรือนเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยใช้ตาข่ายพรางแสงชนิดความเข้มของแสง 60% ติดตั้งบนโรงเรือนให้สูงกว่าระดับดินประมาณ 2-2.50 เมตร เมื่อต้นยางได้ขนาดที่จะนำไปลูกควรลดการพรางแสงลง และให้ต้นยางชำถุงอยู่ในสภาพโล่งแจ้งสักระยะหนึ่ง ไม่ควรนำออกจากโรงเรือนปลูกทันที เพราะต้นยางชำถุงยังปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้เกิดอาการใบไหม้ และตายได้
  3. การวางแถวต้นยางชำถุง  การวางแถวต้นยางชำถุงอาจวางได้ 2 ลักษณะ คือ การวางบนพื้นดินและการวางไว้ในร่องดินที่ขุด ในแหล่งที่มีฝนตกชุกควรวางไว้บนพื้นดิน เพราะถ้ามีน้ำท่วมขังในร่องดินอาจทำให้ต้นยางชำถุงเสียหายได้ ส่วนในแหล่งอื่น ๆ อาจจะเลือกวางต้นยางชำถุงบนพื้นดิน หรือวางในร่องดินก็ได้แล้วแต่จะเหมาะสม กรณีวางไว้บนพื้นดินควรใช้ไม้ไผ่หรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งทำเป็นกรอบกั้นเอาไว้ ระดับของกรอบไม้ควรให้อยู่ประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวถุง แต่กรณีวางในร่องดินควรขุดดินให้เป็นร่องลึกลงไป 1 ใน 3 ของความยาวถุง ความกว้างของแถวควรใช้ต้นยางชำถุงจำนวน 2-3 ถุง ไม่ควรวางมากกว่านี้เพราะจะทำให้ต้นยางแน่นมาก และไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา เช่น การรดน้ำ การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย และการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูยาง ความยาวของแถวไม่จำกัดขึ้นอยู่กับความสะดวกในการปฏิบัติงานและรูปร่างของพื้นที่แปลง ระยะระหว่างแถว หรือบล็อกกว้างประมาณ 75 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นทางเดิน สำหรับทิศทางของการวางแถวควรวางแถวแต่ละแถวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อประโยชน์ในการพรางแสง
IMG_0521

รถกระบะรับจ้าง


รถกระบะ(รถรั้ว,รถคอก) ราคาถูก ยุติธรรม

มีรถกระบะ (รถรั้ว,รถคอก) รับจ้างบริการ รับส่งสินค้า ทุกประเภท   ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผัก ผลไม้ กล้ายาง หรือสินค้าอื่น ๆ โทรใช้บริการเรา แล้วท่านจะไม่ผิดหวัง  เรามีประกันสินค้าหากเกิดความเสียหาย 
รับประกันความพึงพอใจ  โดย  STสตูลทีม
โทรหาเราซิครับ....

"ทุกที่ ที่มีหนทาง โปรดไว้ใจวาง ถ้าสินค้าอยู่กับเรา"

ติดต่อสอบถามราคา ได้เลย

083-2959695


การเสริมการได้ในสวนยาง

การเสริมรายได้สามารถดำเนินการได้โดยปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ระหว่างแถวยางตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนโค่นยาง โดยพิจารณา จาก
  1. ตลาด
  2. แรงงาน
  3. เงินทุน
  4. ขนาดของพื้นที่สวนยาง
  5. สภาพแวดล้อม และ
  6. ลักษณะนิสัยของเกษตรกร

การเสริมรายได้ในสวนยางมีหลายประเภท

- การปลูกพืชเสริมรายได้ในช่วงยางอายุไม่เกิน 3 ปี

  • พืชล้มลุก เช่นสับปะรด ข้าวไร่ ข้าวโพดหวาน กล้วย หญ้ารูซี่โคไร เป็นต้น ควรปลูกห่างจากแถวยางไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร
  • กล้วยและมะละกอ แนะนำให้ปลูก 1-2 แถว และห่างจากแถวยางประมาณ 2.5 เมตร
  • ใส่ปุ๋ยบำรุงตามชนิดพืชที่ปลูก
  • ควรปลูกพืชล้มลุกในระบบหมุนเวียน
  • พืชที่ไม่แนะนำ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ละหุ่ง ยกเว้นในที่พื่นที่ที่ต้องการปลูก ให้ปลูกห่างจากแถวยางไม่ต่ำกว่า 2 เมตร

    - การปลูกพืชเสริมรายได้ที่ทนต่อสภาพร่มเงาสวนยาง

    • พืชล้มลุกที่แนะนำได้แก่ ไม้ดอกสกุลหน้าวัว ไม้ดอกสกุลเฮลิโกเนีย ไม้วงศ์ขิง ขิง ข่า ขมิ้น ผักพื้นบ้าน ควรปลูกห่างจากแถวยางประมาณ 1.5 เมตร
    • ผักเหลียง หรือผักเหมี่ยง แนะนำให้ปลูกห่างจากแถวยางประมาณ 2.5 เมตร
    • พืชสกุลระกำ เช่น ระกำ สะกำ สละเนินวง สละหม้อ และหวายตะค้าทอง แนะนำให้ปลูกกึ่งกลางแถวยาง ระยะระหว่างต้น ประมาณ 5-6 เมตร
    • กระวาน แนะนำให้ปลูก 1-2 แถว ระยะระหว่างต้น ประมาณ 3 เมตร
    • ไม้ป่าที่แนะนำให้ปลูก ได้แก่ สะเดาเทียม ทัง พะยอมสะเดา ยมหอม เคี่ยม มะฮอกกานี ตะเคียนทอง ยางนา ยมหิน ทุเรียนป่า แดง ประดู่ ควรปลูกกึ่งกลางระหว่างแถวยาง ระหว่างต้น ประมาณ 8 เมตร หรือปลูกในหลุมว่างในสวนยางในช่วงอายุ 1-3 ปี

    - การเลี้ยงสัตว์ในสวนยาง

    • สัตว์ที่นิยมเลี้ยงได้แก่ แกะ โค สัตว์ปีก และผึ้ง
    • ควรปล่อยแกะและโคเข้าไปในสวนยางเมื่ออายุ 1  ปี และ 3 ปี ขึ้นไป ตามลำดับ


    ***ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร

    RRIT251

    RRIT251

    แม่ �� พ่อ        คัดเลือกจากต้นกล้ายางแปลงเอกชนในจังหวัดสงขลา
    ลักษณะประจำพันธุ์
    ใบมีรูปร่างป้อมปลายใบ ขอบใบเป็นคลื่น ใบมีสีเขียว ฉัตรใบมีขนาดใหญ่เป็นรูปกรวย ในช่วงยางอ่อนลำต้นคดแต่จะหายไปเมื่ออายุมากขึ้น แตกกิ่งมากทั้งกิ่งขนาดกลางและขนาดใหญ่ การแตกกิ่งไม่สมดุล พุ่มใบทึบ ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่เป็นรูปกลม ผลัดใบช้าและทยอยผลัดใบ
    ลักษณะทางการเกษตร
    ระยะก่อนเปิดกรีดเจริญเติบโตดี ระหว่างกรีดเจริญเติบโตปานกลาง ขนาดลำต้น ทั้งแปลงมีความสม่ำเสมอดีทำให้มีจำนวนต้นเปิดกรีดมาก เปลือกเดิม และเปลือกงอกใหม่หนาปานกลาง พื้นที่ปลูกยางเดิมให้ผลผลิต 10 ปีกรีดเฉลี่ย 462 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ร้อยละ 57 พื้นที่ปลูกยางใหม่ให้ผลผลิต 5 ปีกรีด เฉลี่ย 333 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ร้อยละ 59 ต้านทานโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทราโรคราแป้ง โรคใบจุดนูน และโรคราสีชมพูระดับปานกลาง ค่อนข้างต้านทานโรคเส้นดำ มีจำนวนต้นเปลือกแห้งน้อย ต้านทานลมระดับปานกลาง
    ลักษณะดีเด่น
    ให้ผลผลิตเนื้อยางสูงมาก ขนาดลำต้นมีความสม่ำเสมอทั้งแปลง เปิดกรีดได้เร็วมีจำนวนวงท่อน้ำยางมาก มีความต้านทานโรค และน้ำยางมีสมบัติเหมาะสมต่อการแปรรูปทางอุตสาหกรรม
    ข้อสังเกต
    ในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง ในระยะยางอ่อนจะอ่อนแอมากต่อโรคใบจุดนูน ข้อจำกัดพื้นที่ปลูก
    ไม่แนะนำให้ปลูกในพื้นที่ลาดชัน พื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น และพื้นที่ที่มีระดับน้ำ
    ใต้ดินสูง

    *****อ้างอิงจาก สถาบันวิจัยยางสงขลา กรมวิชาการเกษตร
    ข้อมูลเพิ่มเติม   เกี่ยวกับ RRIT251

    ลูกผสมยางไทยที่มีศักยภาพสูงในการให้ผลผลิตและปรับตัว ตามสภาพแวดล้อมปลูกยางต่างๆของประเทศ ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา สถาบันวิจัยยางสามารถคัดเลือกพันธุ์ยางได้หลายพันธุ์ที่ให้ผล ผลิตน้ำยางสูง และมีลักษณะรองที่ดี เช่น การเจริญเติบโต ความต้านทานโรค เปลือกหนา วงท่อ น้ำยางมาก ปรับตัวได้ดีในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้หลายพันธุ์ และพันธุ์ที่อยู่ในความสนใจของ เกษตรกร คือ พันธุ์สถาบันวิจัยยาง 251 หรือ RRIT 251

    โรครากน้ำตาล

    โรคราคน้ำตาล

    เกิดจากเชื้อรา phellinus noxius (corner) G.H. Cunn พบการระบาดในช่วงฤดูฝน แพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกันระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากของต้นปกติ หรือสปอร์เชื้อราปลิวไปตามลม

    ลักษณะอาการ
    1. ลักษณะเส้นใยซึ่งจับอยู่ที่ผิวเปลือกราก จะปรากฏเส้นใยสีน้ำตาลปนเหลือง เป็นขุยเหมือนกำมะหยี่ ปกคลุมผิวราก และเกาะยึดดินทรายไว้ ทำให้รากมีลักษณะขรุขระ เส้นใยเมื่อแก่จะเป็นแผ่นสีน้ำตาลดำ
    2. ลักษณะเนื้อไม้ของรากที่เป็นโรค ในระยะแรกจะเป็นสีน้ำตาลซีด ต่อมาจะปรากฎเส้นสีน้ำตาลเป็นส้นเดี่ยวลายสลับฟันปลาอยู่ในเนื้อไม้ รากที่เป็นโรคมานาน เมื่อตัดตามขวางจะเห็นลายเส้นใยที่แทรกในเนื้อไม้มีลักษณะคล้ายรวงผึ้ง เนื้อไม้จะเบาและแห้ง
    3. ลักษณะดอกเห็ดที่เกิดตรงโคนต้น หรือตอไม้เหนือพื้นดิน ดอกเห็ดจะเป็นแผ่นหนาและแข็ง ลักษณะครึ่งวงกลม ขนาดค่อนข้างเล็ก ผิวด้านบนมีรอยย่น เป็นวงสีน้ำตาลเข้ม ผิวด้านล่างมีสีเทา
    คำแนะนำในการควบคุมโรค
    1. แปลงยางที่เคยเป็นโรคราก ก่อนปลูกยางซ้ำต้องใช้กำมะถันรองก้นหลุม เพื่อปรับ pH ให้เหมาะสม
    2. หากพบโรค ควรขุดต้นและรากเผาทำลายให้หมด
    3. ขุดคูล้อมบริเวณต้นที่เป็นโรค ป้องกันการสัมผัสกันของราก ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น
    4. ในต้นที่เริ่มเป็นโรคให้ขุดินรอบโคนต้นเป็นร่องแล้วใช้ Tridemorph ราดโคนต้นทุก 6 เดือน
    อย่างไรก็ตามในการป้องกันและควบคุมโรครากยางพาราให้ได้ผลสำเร็จจะต้องมีมาตรการในการจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการปลูกไปจนถึงหลังปลูก หรือระยะที่ต้นยางให้ผลผลิตแล้วอย่างน้อย 5-6 ปี ดังนี้
    1. การเตรียมพื้นที่ปลูกยางควรทำลายตอไม้ ท่อนไม้เก่าออกให้หมด ไถพลิกหน้าดินตากแดดเพื่อกำจัดเชื้อราที่เจริญอยู่ในดิน และในเศษไม้เล็ก ๆ ที่หลงเหลืออยู่ในดิน
    2. ในแหล่งที่มีโรคระบาด หลังการเตรียมดินควรปล่อยพื้นที่ว่างใว้ประมาณ 1-2 ปี หรือปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว เพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชและจุลินทรีย์ในดินบางชนิดที่เป็นพิษต่อเชื้อราสาเหตุโรคราก
    3. แปลงยางที่มีประวัติการเป็นโรครากมาก่อน แนะนำให้ใช้กำมะถันผงผสมดินในหลุมปลูก 240 กรัมต่อหลุม เพื่อปรับสภาพ pH ดิน ให้เป็นกรด เหมาะต่อการเจริญของแอนทาโกนิสต์ บางจำพวก ซึ่งเป็นเชื้อปฏิปักษ์ต่อโรครากขาว และป้องกันการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรครากเข้าทำลายรากยาง
    4. หลังจากปลูกยางไปแล้ว 1 ปี ควรตรวจดูพุ่มใบเพื่อค้นหาต้นยางที่เป็นโรคราก ควรตรวจซ้ำเป็นระยะ ซึ่งความถี่ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ถ้ามีต้นเป็นดรครากไม่สูงมากนัก อาจตรวจซ้ำทุก 3 เดือน เมื่อพบต้นยางเป็นโรครุนแรงไม่อาจรักษาได้ ควรขุดต้นเผาทำลายเสีย และรักษาต้นข้างเคียงโดยการใช้สารเคมี ส่วนบริเวณไม่เป็นโรค ควรทำการตรวจปีละ 1-2 ครั้ง การขุดดูที่ราก แนะนำให้ปฏิบัติเมื่อพบว่าพุ่มใบมีอาการผิดปกติแล้วเท่านั้น  ต้นยางอายุน้อยที่เป็นโรครากนั้น การาป้องกันกำจัดมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค ดังนั้น เมื่อพบต้นเป็นโรครากจึงควรขุดทำลายเสียให้หมด
    5. ต้นยางที่มีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ควรขุดคูล้อมบริเวณต้นเป็นโรค (ขนาดคูกว้าง 30 เซนติเมตร) เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่นโดยการสัมผัสกันของราก
    6. ไม่ควรปลูกพืชซ่อม หรือพืชแซมที่เป็นพืชอาศัยในพื้นที่ที่เป็นโรคราก
    7. ใช้สารเคมีสำหรับรักษาต้นที่เป็นโรคเพียงเล็กน้อย และใช้กับต้นข้างเคียงเพื่อป้องกันโรค

    โรครากแดง

    โรครากแดง

    เกิดจากเชื้อรา Ganoderma pseudoferreum (Wakef) Over & Steinm พบการระบาดในช่วงฤดูฝน แพร่ะกระจายได้โดยการสัมผัสกันระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากของต้นปกติ หรือสปอร์เชื้อราปลิวไปตามลม

    ลักษณะอาการ

    1. ลักษณะเส้นใยซึ่งจับอยู่ที่ผิวเปลือกราก ส่วนรากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะปกคลุมด้วยเส้นใยสีน้ำตาลแดงซึ่งส่วนปลายของเส้นใยที่กำลังเจริญจะเป็นสีขาครีม ลักษณะเส้นใยแก่จะจับกันเป็นแผ่นสีน้ำตาลแดงเป็นมันวาว เห็นได้ชัดเจนเมื่อล้างด้วยน้ำ
    2. ลักษณะเนื้อไม้ของรากที่เป็นโรค มีลักษณะขรุขระ เนื่องจากมีก้อนดินและหินเกาะติดอยู่ เนื้อไม้ของรากที่เป็นโรคจะเป็นสีน้ำตาลซีดและกลายเป็นสีเนื้อในระยะต่อมา วงปีของเนื้อไม้จะหลุดแยกออกจากกันได้ง่าย
    3. ลักษณะดอกเห็ดที่เกิดตรงโคนต้นหรือตอไม้เหนือพื้นดิน ดอกเห็ดจะเป็นแผ่นแข็ง ด้านบนเป็นรอยย่นสีน้ำตาลแดงเข้ม ด้านล่างมีสีขี้เถ้า ขอบดอกมีสีขาวครีม

    คำแนะนำในการควบคุมโรค

    1. แปลงยางที่เป็นเป็นโรคราก ก่อนปลูกยางซ้ำต้องใช้กำมะถันรองก้นหลุม เพื่อปรับ pH ของดินให้เหมาะสม
    2. หากพบโรค ควรขุดต้นและรากเผาทำลายให้หมด
    3. ขุดคูล้อมบริเวณต้นที่เป็นโรค ป้องการการสัมผัสกันของราก ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น
    4. ในต้นที่เริ่มเป็นโรคให้ขุดดินรอบโคนต้นเป็นร่องแล้วใช้ tridemorph ราดโคนต้นทุก 6 เดือน

    โรครากขาว

    โรครากขาว

    เกิดเชื้อ Rigidoporus microporus (Fr.) Overeem ZSyn: Rigidoporus lignosus (Klozsch) Imazeki) มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน โดยจะแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสระหว่างรากที่เป็นโรคของต้นกับรากของต้นปกติ หรือสปอร์เชื้อราปลิวไปตามลม โดยเชื้อราสามารถเข้าทำลายต้นยางได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

    ลักษณะอาการ

    1. ลักษณะเส้นใยซึ่งจับอยู่ที่ผิวเปลือกราก เส้นใยของเชื้อรามีสีขาว เจริญแตกสาขาปกคลุมและเกาะติดแน่นกับผิวราก เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูน สีเหลือซีด
    2. ลักษณะเนื้อไม้ของรากที่เป็นโรค ในระยะแรกจะแข็งกระด้างเป็นสีน้ำตาลซีด ในระยะรุนแรงจะกลายเป็นสีครีม ต่อมาจะยุ่ยและเบา ถ้าอยู่ในที่ชื้นแฉะจะอ่อนนิ่ม
    3. ลักษณะดอกเห็ดที่เกิดตรงโคนต้น หรือตอไม้เหนือพื้นดิน จะมีลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียวหรือซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ผิวด้านบนมีสีเหลืองส้มโดยมีสีเข้มอ่อนเรียงสลับกันเป็นวง ผิวด้านล่างมีสีส้มแดงหรือสีน้ำตาล  ขอบดอกเห็ดมีสีขาว

    คำแนะนำในการควบคุมโรค

    1. แปลงยางที่เคยเป็นโรคราก ก่อนปลูกยางซ้ำต้องใช้กำมะถันรองก้นหลุม เพื่อปรับ pH ของดินให้เหมาะสม
    2. หากพบโรค ควรขุดต้น และรากเผาทำลายให้หมด
    3. ขุุดคูล้อมบริเวณต้นที่เป็นโรค เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น
    4. ในต้นที่เริ่มเป็นโรคให้ใช้สารเคมี ได้แก่ tridemorph หรือ Cyproconazole หรือ hexaconazole หรือ propiconazole หรือ fenicolonil

    โรคลำต้นเน่าของยางชำถุง

    โรคลำต้นเน่าของยางชำถุง (Twig Rot of Polybagrubber)

    เกิดจากเชื้อรา Phytophthora nicotianae var. parasitica และ P. palmivora มักพบระบาดในแปลงเพาะชำยางชำถุงที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกชุก โรคนี้ทำให้ต้นยางชำถุงตายอย่างรวดเร็ว การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์จะช่วยส่งเสริมให้โรคระบาดมากขึ้น

    ลักษณะอาการ : เชื้อจะเข้าทำลายที่กิ่งแขนงซึ่งแตกออกมาจากตาของยางพันธุ์ดี ทำให้เกิดรอยแผลสีดำเป็นรูปยาวรีไปตามความยาวของลำต้น และขยายพื้นพี่มากขึ้น จนกระทั่งลุกลามไปรอบต้น ทำให้กิ่งแขนงเหี่ยวแห้งตาย เพราะระบบการลำเลียงน้ำ และอาหารถูกทำลายจนหมด หากเชื้อทำลายกิ่งแขนงเพียงบางส่วน ต้นยางก็ยังสามารถเจริญต่อไปได้ ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในเวลาอีก 1-2 สัปดาห์ ต่อมารอยแผลอาจมีลักษณะแห้งเป็นสะเก็ด

    คำแนะนำในการควบคุมโรค
    1. ไม่ควรนำดินชำถุงหรือดินบริเวณที่เคยมีการระบาดของโรคมาใช้ซ้ำ
    2. ควรปรับสภาพเรือนเพาะชำไม่ให้แน่นทึบเกินไป
    3. ถ้าพบต้นยางเป็นโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออก หรือแยกออกจากแปลงและทำลาย
    4. ใช้สาร dimethomorph, cymoxanil+mancozeb หรือ metalaxyl ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน เพื่อควบคุมโรค

    โรคเปลือกเน่า

    โรคเปลือกเน่า (Mouldy Rot)

    ที่เกิดจากเชื้อรา Ceratocystis fimbriata Ellis & Halst. เกิดจากอากาศในสวนยางถ่ายเทไม่ดี มีความชื้นสูงตลอดเวลา หรือในสวนที่มีลักษณะทึบ ปลูกถี่ โรคนี้ระบาดรุนแรงในบางพื้นที่ของจังหวัดสุราษฏร์ธานี และจังหวัดชุมพร โดยเชื้อนี้จะแพร่กระจายโดยลม แมลง และมีดกรีดยาง

    ลักษณะอาการ : ระยะแรกจะเป็นรอยบุ๋ม มีสีจางบนเปลือกงอกใหม่เหนือรอยกรีด ซึ่งอาการคล้ายกับโรคเส้นดำ ต่อมาจะมีเส้นใยของเชื้อราสีเทาขึ้นปกคลุมที่รอยแผลจนสังเกตเห็นได้ชัดเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อราจะเจริญลุกลามขยายออกไป จนเห็นเส้นใยของเชื้อราเกิดเป็นแถบขนานไปกับรอยกรีด ต่อมาเปลือกจะเน่าหลุดเป็นแอ่งเหลือแต่เนื้อไม้สีดำ เมื่อเฉียนเปลือกบริเวณข้างเคียงออกดู จะไม่พบอาการเน่าลุกลาม ซึ่งต่างจากโรคเส้นดำ

    คำแนะนำในการควบคุมโรค
    1. จัดการสวนยางให้อยู่ในสภาพโปร่ง โดยตัดแต่งกิ่งก้านที่ระเกะระกะออกเสีย กำจัดวัชพืชในสวนให้โล่งเตียนอยู่เสมอ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หน้ากรีดยางจะได้แห้งเร็ว ไม่เหมาะต่อการเจริญของเชื้อ
    2. เมื่อต้นยางเป็นโรค ให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราทาหน้ากรีดยาง โดยขูดเอาส่วนที่เป็นโรคออกแล้วทาสารเคมี benomyl หรือ metalaxyl ฉีดพ่นหรือทาหน้ากรีดทุก 7 วัน อย่างน้อย 4 ครั้ง

    โรคราสีชมพู

    โรคราสีชมพู (Pink Disease)

    เกิดจากเชื้อรา Corticium salmonicolor จะเข้าทำลายส่วนเปลือกของลำต้นและกิ่งแขนงต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือเมื่อต้นยางเริ่มสร้างทรงพุ่มโดยเฉพาะตรงบริเวณคาคบในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง ทำให้ต้นยางแคระแกร็น ไม่สามารถเปิดกรีดได้เมื่อถึงกำหนด ถ้าโรคเข้าทำลายคาคบอย่างรุนแรง อาจทำให้ต้นยางยืนต้นตาย

    ลักษณะอาการ : เริ่มแรกเปลือกบริเวณคาคบหรือกิ่งก้าน จะมีรอยปริมีน้ำยางไหลติดอยู่ตามเปลือกเมื่ออากาศชื้นจะเห็นเส้นใยสีขาวที่ผิวเปลือกยาง แผลจะขยายเป็นบริเวณกว้างออกไป เมื่อเชื้อเจริญเต็มที่จะเป็นแผ่นสีชมพู บางกรณีมีตุ่มเล็ก ๆ สีแดงส้มปรากฏอยู่ประปราย เมื่อกิ่งก้านถูกทำลายอย่างรุนแรง ส่วนปลายกิ่งจะแห้งตาย และมีกิ่งอ่อนแตกออกมาใต้รอยแผล เพื่อเจริญเติบโตขึ้นใหม่ หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมแก่การเจริญลุกลาม เชื้อราจะพักตัว และสีชมพูที่เคยปรากฎจะซีดลงจนเป็นสีขาว เมื่อถึงฤดูฝนปีถัดไป จะเริ่มเจริญลุกลามต่อไป

    การแพร่ระบาด : โรคนี้ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศชุ่มชื้น มีปริมาณน้ำฝนสูง และเกิดรุนแรงมากในดินที่ขาดธาตุโบรอน เมื่ออากาศแห้งเชื้อราจะพักตัวและเจริญลุกลามต่อในฤดูปีถัดไป เชื่อระบาดโดยลม และฝน

    คำแนะนำในการควบคุมโรค
    1. ดูแลรักษาสวนยางให้โปร่ง อากาศถ่ายแทสะดวก ไม่อับชื้น
    2. หลีกเลี่ยงการปลูกพันธุ์อ่อนแอในเขตอากาศชุ่มชื้นเช่น RRIM600
    3. ถ้าเป็นโรครุนแรงจนถึงกิ่งแห้งตาย และมีกิ่งใหม่งอกใต้รอยแผล ควรตัดแต่งกิ่งแห้งตายทิ้ง โดยตัดให้ต่ำกว่ารอยแผลประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วทาสารเคมีเคลือบบาดแผล
    4. ขูดแผลแล้วใช้เบโนมิล (Benomyl), ไตรดีมอร์ฟ (tridemorph) หรือสารเคมีบอร์โดมิกซ์เจอร์ (Bordeaux mixture) ทาบริเวณแผล หรือฉีดพ่น

    โรคเส้นดำ (Black Stripe)

    โรคเส้นดำ

    เกิดจากเชื้อรา Phytophthora botryose และ P. palmivora เป็นโรคทางลำต้นที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากทำลายหน้ากรีดซึ่งเป็นบริเวณที่เก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้หน้ากรีดเน่า ต้องหยุดกรีด และเปลือกงอกใหม่เสียหายไม่สามารถกรีดยางซ้ำบนหน้าเดิมได้ ทำให้ระยะเวลาการให้ผลผลิตขาดหายไปกว่าครึ่ง โรคนี้แพร่ระบาดในพื้นที่ที่เกิดโรคใบร่วง และฝักเน่าเป็นประจำ

    ลักษณะอาการ : เหนือรอยกรีดจะมีลักษณะซ้ำ ต่อมาบริเวณรอยช้ำนี้จะเป็นรอยบุ๋มสีดำ และขยายตัวตามยาว บริเวณที่ไม่เป็นโรคจะมีเปลือกงอกใหม่หนาเพิ่มขึ้น จึงมองเห็นรอยบุ๋มของส่วนที่เป็นโรคชัดเจน เมื่อเฉือนเปลือกออกดู จะพบว่ารอยบุ๋มนั้นมีลายเส้นสีดำบนเนื้อไม้เป็นรอยยาวตามแนวยืนของลำต้น หากหน้ากรีดยางเป็นโรครุนแรง ทำให้เปลือกบริเวณที่เป็นโรคปริ มีน้ำยางไหลตลอดเวลา เปลือกที่เป็นโรคเน่าหลุดออก

    การแพร่ระบาด :  เชื้อบนฝักและใบที่เป็นโรคถูกชะล้างน้ำฝนลงมาที่หน้ากรีด พบระบาดรุนแรงเมื่อกรีดยางติดต่อกันในฤดูฝนโดยไม่มีการป้องกันรักษาหน้ากรีด โดยเฉพาะเมื่อความชื้นสูงกว่า 90% หน้ากรีดจะเปือกอยู่ตลอดเวลา เหมาะต่อการขยายพันธุ์ของเชื้อ

    คำแนะนำในการควบคุมโรค
    1. เขตที่มีการระบาดควรปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรค เช่น BPM24
    2. กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยาง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
    3. เมื่อพบโรคให้ใช้สารเคมี metalaxyl หรือ fosetyl-AI ทาที่หน้ากรีดเพื่อ้ป้องกันโรคเส้นดำ เนื่องจากเป็นเชื้อเดียวกัน
    4. ต้นยางใหญ่ที่เกิดใบร่วงอย่างรุนแรงจนใบร่วงหมด ควรรหยุดกรีดยาง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์

    โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า

    โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (phytophthora Leaf Fall)

    เกิดจากเชื้อรา Phytophthora otryose และ P. palmivora ระบาดในช่วงฤดูฝน เชื้อสาเหตุทำลายส่วนต่าง ๆ ของต้นยางได้ทั้งฝัก ใบ กิ่งก้าน และหน้ากรีดยาง ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำ ค้างอยู่บนต้น ไม่แตก และร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งพักตัวของเชื้อที่สำคัญ ผลผลิตยางจะเริ่มลดลงถ้าเชื้อราระบาด จนทำให้ใบร่วงมากกว่า 20% และหากปล่อยให้โรคระบาดโดยไม่มีการควบคุมจนใบร่วงถึง 75% จะทำให้ผลผลิตลดลง 30-50%

    ลักษณะอาการ : สังเกตุอาการได้เด่นชัดที่ก้านใบ โดยปรากฎรอยแผลช้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำตามความยาวของก้านใบ แผลบริเวณที่เป็นทางเข้าของเชื้อ มีหยดน้ำยางเล็ก ๆ เกาะติดอยู่ การเข้าทำลายที่ก้านใบนี้เองเป็นผลทำให้เกิดใบร่วงทั้งที่ใบยังมีสีเขียวสดอยู่ เนื่องจากเชื้อสร้างเนื้อเยื่อ abscission layer เมื่อนำมาสะบัดเบา ๆ ใบย่อยจะหลุดออกจากก้านใบโดยง่าย บนแผ่นใบย่อยเชื้ออาจเข้าทำลายที่ปลายใบ หรือขอบใบ เกิดแผลสีน้ำตาล มีลักษณะช้ำน้ำ ขยายติดต่อกันเป็นแผลใหญ่ ทำให้ใบเปลี่ยนเป้นสีเหลืองและแดงก่อนที่จะร่วง ในสภาพอากาศเหมาะสม ยางพันธุ์อ่อนแอ ใบจะร่วงหมด ทำให้ต้นอ่อนแอง และผลผลิตลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อนี้สามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะ ทำให้ฝักเน่า ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาวเจริญปกคลุมฝัก ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ไม่แตกและร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคในปีถัดมา

    การแพร่ระบาด : ความรุนแรงของการเกิดโรคขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และจำนวนวันฝนตก อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25-28 องศา เชื้อนี้ต้องการน้ำเพื่อการขยายพันธุ์ จึงระบาดได้ดีในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก มีความชื้นสูงต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 วัน โดยที่มีแสงแดดน้อยกว่า 3 ชั่วโมง ต่อวัน ส่วนขยายพันธุ์จะถูกทำลายโดยง่ายด้วยแสงแดดและสภาพอากาศแห้ง เชื้อราสร้าง  oospore และ chlamydospore ซึ่งเป็นสปอร์ผนังหนา เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ข้ามฤดูในฝักยางที่เน่าแห้งอยู่บนต้น หรือบนส่วนของพืชที่ถูกทำลาย เมื่อได้รับสภาพอากาศเหมาะสม ส่วนของเชื้อที่พักตัวจะงอก สร้างส่วนขยายพันธุ์แพร่ระบาดไปตามหยดน้ำฝนทำลายส่วนอื่นต่อไป

    คำแนะนำในการควมคุมโรค

    1. เขตที่มีการระบาดควรปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรค เช่น BPM 24 และแหล่งปลูกยางที่เป็นเขตระบาดของโรค ไม่ควรปลูกยางพันธุ์ที่อ่อนแอ เช่น RRIM600
    2. กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยาง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
    3. เมื่อพบโรคให้ใช้สารเคมี metalaxyl หรือ fosetyl-AI ทาที่หน้ากรีดเพื่อป้องกันโรคเส้นดำ เนื่องจากเป็นเชื้อเดียวกัน
    4. ต้นยางใหญ่ที่เกิดใบร่วงอย่างรุนแรงจนใบร่วงหมด ควรหยุดกรีดยาง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์

    โรคราแป้ง

    โรคราแป้ง(Powery Mildew)

    เกิดจากเชื้อรา Oidium heveae ซึ่งเป็น Obligate parasite เจริญบนเนื้อเยี่อพืชที่ยังมีชีวิตอยู่ มักระบาดบนใบยางอ่อนที่แตกออกมาใหม่ภายหลังจากการผลัดใบประจำปี จึงเป็นสาเหตุทำให้ใบยางร่วงอีกครั้งหนึ่ง และกิ่งแขนงบางส่วนอาจแห้งตาย ความรุนแรงของโรคจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการผลัดใบของต้นยาง อายุใบ ความอ่อนแอของพันธุ์ยาง สภาพพื้นที่ของแปลงปลูก และสภาพอากาศในช่วงที่ต้นยางแตกใบใหม่ โรคนี้นอกจากจะทำให้เกิดอาการทางใบแล้ว ยังทำให้ดอกร่วงสูญเสียเมล็ดในการขยายพันธุ์ การระบาดของโรคราแป้งทให้สูญเสียผลผลิตยางแห้งได้ถึง 30% หากตรวจพบแผลบนใบจำนวนมาก และใบร่วงมากกว่าครึ่งหนึ่งของทรงพุ่ม

    ลัษณะอาการ : ใบยางที่ผลออกมาใหม่ในระยะที่ยังเป็นสีทองแดง จะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายมากที่สุด ปลายใบมีสีดำคล้ำก่อนที่จะร่วง ใบที่เป็นสีเขียวจะสังเกตเห็นกลุ่มของเส้นใยและสปอร์สีขาว-เทา ที่เชื้อราสร้างขึ้นบนผิวใบ โดยเฉพาะผิวใบด้านล่าง เนื้อเยี่อบริเวณที่เชื้อจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาลอ่อน และเกิดเป็นจุดแผลแห้งปรากฎบนใบจนกว่าใบย่อยจะหลุดร่วง หากเชื้อเข้าทำลายรุนแรงใบจะร่วงเกือบหมดต้น ทำให้อ่อนแอ อัตราการเจริญเติบโต การงอกเปลือกใหม่ และผลผลิตลดลง ในพื้นที่ลาดชันการเกิดใบร่วงซ้ำ ๆ กัน ทำให้ปริมาณอาหารสำรองในต้นมีไม่เพียงพอ จึงมีกิ่งแขนงบางส่วนแห้งตาย และมีเชื้อโรคชนิดอื่นเข้าทำลายซ้ำเติม ถ้าเชื้อเข้าทำลายดอกจะทำให้ดอกร่วงเหลือแต่ก้านดอก
    การระบาด : อุณหภูมิ และความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต การงอก การสร้างสปอร์และการเข้าทำลายเชื้อรา อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในอยู่ในช่วง 23-25 องศา และความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 90 % จึงมักแพร่ระบาดในสภาพอากาศเย็น ความชื้นสูง มีหมอกในตอนเช้า หรือมีฝนตกปรอย ๆ สลับกับแสงแดด เชื้อราอยู่ข้ามฤดูตามใบอ่อนที่แตกออกมาเป็นระยะ ๆ ในทรงพุ่ม หรือตามใบของต้นกล้ายางส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อนี้แพร่ระบาดได้ดีโดยลม มีรายงานว่า หญ้ายาง (Euphorbia hirta) ซึ่งเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งในสวนยางเป็นพืชอาศัยที่สำคัญ

    คำแนะนำในการควบคุมโรค
    1. หลีกเลี่ยงพันธุ์อ่อนแอในเขตที่มีการระบาดรุนแรง เช่น PB235
    1. ปรับปุ๋ยยางให้มีธาตุไนโตรเจนมากขึ้นเพื่อเร่งใบอ่อนให้แก่เร็วขึ้น พ้นระยะอ่อนแอต่อการเข้าทำลาย
    1. กำจัดโดยการฉีดพ่นสารเคมี สำหรับต้นยางใช้ sulfur, carbendazim หรือ benomyl พ่นใบยางอ่อนทุกสัปดาห์ช่วงที่พบโรค

    โรคใบจุดก้างปลา

    โรคใบจุดก้างปลา (Corynespora Leaf Spot)

    ระบาดในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2528 ที่ศูนย์วิจัยยางสุราษฏร์ธานี กับต้นยางใหญ่ พันธุ์ RRIC 103 ซึ่ง เป็นพันธุ์จากประเทศศรีลังกา และพันธุ์ RRIT 21 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อเชื้อ Phytophthora ต้องถูกตัดออกจากคำแนะนำพันธุ์ยางปี 2536

    ลักษณะอาการ

    เชื้อเข้าทำลายใบได้ทุกระยะ ช่วงใบอ่อนจะอ่อนแอต่อเชื้อมากที่สุด อาการบนใบมีตั้งแต่จุดแผลลักษณะกลม หรือรูปร่างไม่แน่นอน ขนาดเส้นผ่าเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-8 มม. จนถึงแผลขนาดใหญ่ กลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม และมีวงสีเหลือง ล้อมรอบรอยแผล ลักษณะเด่นของแผลที่พบบนใบคือ เส้นใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ มีลักษณะคล้ายก้างปลา ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อสร้างสารพิษ (toxin) ตรงบริเวณเที่เข้าทำลาย แล้วแพร่กระจายไปตามเส้นใบ ทำให้เนื้อเยื่อใบตายการเข้าทำลายของเชื้อบริเวณเส้นกลางใบเพียงแผลเดียว ก็สามารถทำให้ใบร่วงได้ ถ้าเข้าทำลายที่เส้นใบย่อย ใบจะไม่หลุดร่วง จึบพบเห็นอาการก้างปลาอย่างชัดเจนบนใบ นอนจากนี้อาจพบแผลลักษณะค่อนข้างกลมที่มีการยุบตัวของเนื้อเยื่อซ้อนกันเป็นวง (concentric spots) ตรงกลางแผลที่แห้งอาจแตกขาดเป็นรู ซึ่งลักษณะอาการแบบนี้คล้ายกับอาการที่เกิดจากเชื้อ Colletotrichum
              โรคระบาดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางจะแสดงแค่อาการใบจุด แต่ในกรณีที่ระบาดรุนแรงจะทำให้ใบอ่อนไหม้ แห้งเหี่ยว ใบร่วง เมื่อแตกยอดใหม่ก็จะถูกเชื้อเข้าทำลาย และใบร่วงซ้ำอีก ทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต และเกิดอาการตายจากยอด หากดินมีความชื้นเพียงพอ จะมีการแตกยอดอ่อนขึ้นมาใหม่ใต้ส่วนที่แห้ง ยอดอ่อนสีเขียวที่ถูกทำลายจะเกิดแผลรูปกระสวย สีน้ำตาล ขยายไปตามความยาวของลำต้น ทำให้กิ่งแห้ง เปลือกแตกจนอาจก่อให้เกิดการยืนต้นตายในที่สุด เชื้อสามารถทำให้เกิดรอยแผลสีดำบนก้านใบ เป็นสาเหตุให้ใบร่วงได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดแผลบนใบ แปลงกล้ายางที่เกิดโรคระบาดจะไม่สามารถติดตาได้ตามกำหนดเวลา ระยะใบยางอ่อนจะอ่อนแอต่อโรคมาก แต่ในระยะใบยางแก่อาจพบแผลมีขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุดเท่านั้น

    คำแนะนำในการควบคุมโรค

    1. ไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอในพื้นที่ที่สภาพอากาศเหมาะสมต่อการระบาดของโรค โดยเฉพาะพันธุ์ RRIC 103, RRIT 21, RRII 105, RRIC 110
    2. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชแซมที่เป็นพืชอาศัย เช่น งา มะละกอ ถั่วเหลือ
    3. ต้นยางอ่อนใช้สารเคมี mancozeb, chlorothalonil หรือ benomyl ฉีดพ่นพุ่มใบยางทุก 7 วัน เมื่อเริ่มสังเกตพบอาการ
    4. หากพบโรครุนแรงควรแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบยางพารา เพื่อหามาตรการควบคุมโรค เนื่อจากจัดเป็นโรคร้ายแรง

    โรคใบจุดคอลเลโทตริกัม

    โรคใบจุดคอลเลโทตริกัม

    เกิดจากเชื้อรา Colletorichum gloeosprides (Penz.) Sacc. โรคนี้ระบาดได้กับต้นยางทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะต้นกล้า จนกระทั่งเจริญเติบโตเต็มที่ สามารถเข้าทำลายใบ และกิ่งก้านที่มีสีเขียว บางครั้งกิ่งก้านเป็นโรครุนแรงมากจนทำให้ยอดแห้งตายไปด้วย

    ลักษณะอาการ : ใบอ่อนที่เพิ่งแตกออกมาใหม่ จะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อ โดยจะเริ่มทำลายที่ปลายใบเข้ามายังโคนใบ เกิดเป็นแผลสีน้ำตาลเข้ม ทำให้ใบผิดรูปผิดร่าง เหี่ยวแห้งและร่วงหล่นเหลือแต่ก้านใบ ในระยะนี้อาการโรคมักสับสนกับอาการของโรคราแป้ง และโรคใบจุดตานก ใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะมีความต้านทานต่อการทำลายตามธรรมชาติ จึงพบอาการเป็นจุดแผลบนใบจำนวนมาก จุดแผลมีลักษณะกลมสีน้ำตาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร ขอบแผลมีสีเหลืองเมื่อใบมีอายุมากขึ้น จุดเหล่านี้จะนูนจนสังเกตเห็นได้ชัด ถ้าระบาดรุนแรงในแปลงกล้า จะทำให้ใบร่วงโกร๋นเหลือแต่ลำต้น ต้นชะงักการเจริญเติบโต ติดตายาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือก การระบาดบนต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว อาจมีผลต่อผลผลิต
              เนื่องจากเชื้อราทำให้เกิดใบร่วงซ้ำ ๆ กัน จนเป็นผลทำให้เกิดการตายของยอดอ่อน เชื้อจะเจริญลงมาเข้าทำลายส่วนตา และเจริญเข้าไปในลำต้น ทำให้กิ่งแขนงแห้งตาย หากเป็นรุนแรงทำให้ลำต้นแห้งตายได้ ในช่วงที่มีความชื้นสูง อาจพบกลุ่มสปอร์ของเชื้อสีส้มอ่อนหรือชมพูบนแผล
              ในสภาพดินเลว อาจพบอาการใบจุด และใบแห้งที่เกิดจากเชื้อ Colletotrichum heveae ในต้นยางเล็กที่ไม่สมบูรณ์ โดยอาการใบจุด และใบจุดมีลักษณะค่อนข้างกลม ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อแผลมีอายุมากขึ้น กลางแผลจะมีสีซีดคล้ายอาการของโรคใบจุดตานก แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า และมีโครงสร้างเชื้อราเป็นเส้นแข็ง สีดำ ถ้าแสดงอาการใกล้ขอบใบ ทำให้ขอบใบแห้งเป็นแผลค่อนข้างใหญ่ โดยที่บนแผลนั้นจะมีเส้นสีดำขึ้นเป็นวง ๆ อย่างเป็นระเบียบ โรคนี้จะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น

    การแพร่ระบาด : เชื้อรานี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานบนเศษซาก และเข้าทำลายพืชปลูกได้หลายชนิด สปอร์แพร่กระจายโดยลม และน้ำฝนกระเด็นไป อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของสปอร์อยู่ในช่วง 26-29 องศา หากมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 96 % จะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง การเข้าทำลายส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 96% อุณหภูมิโดยรอบอยู่ระหว่าง 26-31 องศา และมีฟิล์มของน้ำเคลือบบนส่วนที่เข้าทำลาย

    คำแนะนำในการควบคุมโรค

    1. บำรุงรักษาสภาพดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง ใส่ปุ๋ยครั้งละน้อย แต่ให้บ่อยครั้ง และปรับปรุงการระบายน้ำเพื่อไม่ให้พื้นที่ปลูกมีความชื้นสูง
    2. ในแปลงกล้า ควรใช้สารเคมี Zineb, Benomyl, Chlorothalonil หรือ Propineb ฉีดพ่น ทุก ๆ 5 วัน
    3. สำหรับแปลงยางใหญ่นั้นยังไม่พบการระบาดรุนแรงในระดับที่ควรใช้สารเคมี

    โรคใบจุดตานก

    โรคใบจุดตานก (Birs's Eye Spot)

              เป็นโรคที่พบเสมอในแปลงกล้ายางที่ปลูกไว้เป็นต้นตอ และต้นยางในแปลงกิ่งตาสำหรับขยายพันธุ์ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Drechslera heveae ทำให้ใบร่วง ลำต้นอ่อนแอ และชะงักการเจริญเติบโต จึงต้องใช้เวลานานกว่าต้นยางจะได้ขนาดติดตา ระบาดรุนแรงในดินทราย ดินร่วนปนทรายที่ไม่อุ้มน้ำ และขาดความอุดมสมบูรณ์ ใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และใบแก่จะต้านทานต่อโรค

    ลักษณะอาการ

    มีลักษณะแตกต่างกันตามอายุของใบและระยะเวลาในการเข้าทำลาย
    • ถ้าเชื้อราเข้าทำลายในระยะใบยังอ่อนมาก (ระยะที่ใบยังเป็นสีน้ำตาลแดง และยังมีการขยายขนาดอยู่) จะเกิดแผลช้ำน้ำสีดำ แผ่นใบหงิกงอ เหี่ยวแห้ง และร่วงในที่สุดซึ่งลักษณะอาการนี้จะไม่แตกต่างจากการเข้าทำลายของเชื้ออื่น
    • ถ้าเชื้อเข้าทำลายใบที่ขยายตัวเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่แก่จัด (ใบมีอายุ 2-3 สัปดาห์) จะปรากฏจุดแผลค่อนข้างกลม ขอบแผลมีสีน้ำตาลล้อมรอบรอยซึ่งโปร่งแสง ขนาดของจุดมักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 มิลลิเมตร เมื่อใบเจริญต่อไปจนแก่เต็มที่จะพบว่า ขอบแผลมีสีเหลืองล้อมรอบ
    • ถ้าเชื้อเข้าทำลายใบยางแก่ จะเห็นจุดเป็นเพียงรอยสีน้ำตาลเข้มเล็ก ๆ โดยทั่วไปจะพบลักษณะอาการทั้งสามแบบ เกิดขึ้นบนใบยางที่เป็นโรคอย่างรุนแรง กล่าวคือ ปลายใบเหี่ยวแห้ง และหลุดร่วงบางส่วน มีจุดแผลปรากฏบนใบมากมาย หากถูกเชื้อเข้าทำลายซ้ำ จะทำให้ใบยางร่วงติดต่อกัน ยอดชะงักการเจริญเติบโต และมีขนาดพองโตขึ้น อาจพบรอยแผลสีดำตามยอด และก้านใบ
    การแพร่ระบาด :เชื้อราสร้างสปอร์ตรงกลางรอยแผลทางด้านล่างของแผ่นใบ สปอร์แพร่ระบาดโดยลม ฝน น้ำค้าง และการเสียดสีระหว่างต้นยาง การสัมผัสขณะทำงานจะช่วยให้เกิดการระบาดไปยังต้นข้างเคียงได้เป็นอย่างดี

    คำแนะนำในการควบคุมโรค

    1. หลีกเลี่ยงการปลูกต้นกล้ายางในพื้นที่ดินทราย
    2. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกช่วยปรับโครงสร้างดินให้อุ้นน้ำได้ดีขึ้น
    3. ใช้สารเคมี Mancozeb,Propibeb,Chlorothalonil ใช้ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน จนกว่าต้นยางจะมีใบฉัตรใหม่ที่สมบูรณ์ดี

    ภาพแปลงยาง จ.อุดร

    แปลงตั้งอยู่ตรงกันข้ามโรงเรียนเหล่าวิชาบ้านโพธิ์ ตำบลนาชุมแสง อำเภอทุ่งฝน อุดร