ขอต้อนรับสู่ ยางพันธุ์ดีพัทลุง ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ผลิตยางพันธุ์ดี เป็นรายแรก ของจังหวัดพัทลุง ***รับรองพันธุ์แท้โดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ตอนนี้เปิดจอง สายพันธุ์408 แล้ว ข่าวดี....แปลงแม่ขลีพัทลุง เปิดบริการแล้ว ***

การผลิตและการปลูกต้นยางชำถุง

          วัสดุปลูกที่แนะนำสำหรับการปลูกสร้างสวนยางมีอยู่หลายชนิด เช่น ต้นตอตายาง ต้นยางชำถุง และต้นกล้าติดตาในแปลง เป็นต้น
          แต่ละชนิดที่เกษตรกรนิยมใช้ปลูกสร้างสวนยางกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันคือ ต้นยางชำถุง ทั้งนี้เพราะเป็นวิธีการที่ได้รับผลสำเร็จสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการอื่น ๆ การเจริญเติบโตของต้นยางหลังจากปลูกไม่หยุดชะงัก ได้ต้นยางที่เจริญเติบโตสม่ำเสมอ ช่วยลดช่วงระยะเวลาดูแลรักษาสวนยางอ่อนให้สั้นลง สามารถเปิดกรีดได้เร็วกว่าการปลูกด้วยต้นตอยาง และต้นกล้าติดตาในแปลง นอกจากนี้ต้นยางชำถุงยังเหมาะสำหรับใช้เป็นต้นยางปลูกซ่อมได้ดีอีกด้วย

การผลิตต้นยางชำถุง

การผลิตต้นยางชำถุงโดยทั่วไปสามารถผลิตได้ 2 วิธีคือ
  1. การปลูกต้นกล้าเพื่อติดตาในถุง
  2. การปลูกด้วยต้นตอยาง
          สำหรับวิธีการปลูกต้นกล้าเพื่อติดตาในถุง โดยการปลูกต้นกล้าในถุงเมื่อต้นกล้าอายุ 6-8 เดือน หรือลำต้นของต้นกล้าที่บริเวณติดตามีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยว่า 1.0 ชม. จึงทำการติดตา จากการศึกษาในประเทศมาเลเซียพบว่า การติดตาในถุงขนาด 8x20 นิ้ว ประสบผลสำเร็จร้อยละ 92-95 ส่วนในประเทศไทยนิยมติดตาในถุงเฉพาะในบางพื้นที่ที่มีปัญหาหน้าดินตื้น ไม่สามารถปลูกสร้างแปลงกล้ายางได้ โดยมักใช้ถุงขนาด 3 1/2 x 12 นิ้ว ซึ่งยังไม่มีรายงานที่ชัดเจนว่า การติดตาได้รับผลสำเร็จมากน้อยเพียงไร แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าการปลูกต้นกล้ายางในถุงเป็นระยะเวลานาน ๆ สภาพของต้นกล้ายางมีความสำบูรณ์ค่อนข้างต่ำ เพราะเจริญเติบโตในถุงที่มีดินจำกัด ระบบรากของต้นยางบางส่วนจะม้วนเป็นก้อนบริเวณก้นถุง และบางส่วนจะแทงทะลุก้นถุงลงในดิน เมื่อขนย้ายไปปลูกจะทำให้ระบบรากขาด และมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นยางติดตาในถุง นอกจากนี้ยังพบว่าถุงที่บรรจุดินมีสภาพฉีกขาดเสียหายเพราะแสงแดดเผา           ส่วนการผลิตต้นยางชำถุงด้วยวิธีการปลูกต้นตอตายาง เป็นวิธีการที่นิยมปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง โดยการนำต้นตอตายางมาปลูกในถุงที่บรรจุดินขนาด 4 1/2 x 14 นิ้ว ดูแลรักษานานประมาณ 50-60 วัน ก็จะได้ต้นยางชำถุงขนาด 1 ฉัตร พร้อมที่จะขนย้ายไปลูกในแปลง

1. การเลือกสถานที่สร้างแปลง

    • ควรตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และมีน้ำเพียงพอตลอดปี
    • ควรเป็นพื้นที่ราบ มีการระบายน้ำดี
    • ควรตั้งอยู่ในแหล่งที่มีการปลูกสร้างสวนยาง
    • การคมนาคมสะดวก

2. การจัดเตรียมแปลง และโรงเรือน >>>> อ่านต่อ Click

3. การจัดเตรียมวัสดุสำหรับการผลิต >>>> อ่านต่อ Click

4. การใช้สารฮอร์โมนกับต้นตอยาง  >>>> อ่านต่อ Click

5. การปักชำต้นตอยาง  >>>> อ่านต่อ Click

6. การเก็บรักษาต้นตอตายาง  >>>> อ่านต่อ Click

7. การดูแลรักษาต้นยางชำถุง  >>>> อ่านต่อ Click

8. การขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูก   >>>> อ่านต่อ Click

การปลูกต้นยางชำถุง

การปลูกต้นยางชำถุง อ่านรายละเอียด  >>>> อ่านต่อ Click

การปลูกต้นยางชำถุง

  1. การเตรียมพื้นที่ปลูก  หลังจากโค่นต้นยางเก่า และนำไม้ที่ใช้ประโยชน์ได้ออกจากแปลงหมดแล้ว จำเป็นต้องปรับพื้นที่ให้เหมาะสมต่อการปลูกดังนี้
    • ไถพลิกดิน 2 ครั้ง เก็บเศษไม้ และซากไม้ที่ยังเหลืออยู่นำมารวมกองเป็นจุด ๆ ในแปลงแล้วเผาปรน
    • ไถพรวน 1 ครั้ง เพื่อย่อยดินให้ร่วนซุย
    • ปักไม้ชะมบตามระยะปลูกที่กำหนดไว้
  2. การปลูกหลุมปลูกยาง
    • ขุดหลุมปลูกขนาดกว่้าง x ยาว x ลึก เท่ากับ 50x50x50 เซนติเมตร
    • แยกดินบน และดินล่างออกจากกัน ตากแดดไว้ประมาณ 10-15 วัน เมื่อดินแห้งแล้วย่อยดินบนให้ร่วนแล้วกลบลงหลุมครึ่งหนึ่งของหลุม สำหรับดินล่างเมื่อย่อยแล้วผสมปุ๋ยหินฟอสเฟต 25% สูตร 0-3-0 อัตรา 170 กรัม/หลุม
  3. หลักในการเลือกต้นยางชำถุงปลูก  ต้นยางชำถุงเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่ง และมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จในการปลูก และการเพิ่มศักยภาพการจัดการสวนยาง ดังนั้นการเลือกต้นยางชำถุงปลูกต้องพิจารณาตามหลักการดังนี้
    1. ต้นยางชำถุงมีลักษณะถูกต้องตามพันธุ์ และมีคุณภาพดี
    2. พิจารณาพันธุ์ที่สามารถปรับตัวได้ดีตามสภาพแวดล้อมและต้านทานโรคต่าง ๆ ดี
    3. ต้นยางชำถุงที่ได้มาตรฐาน ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
      • เป็นต้นติดตาที่สมบูรณ์ เจริญเติบโตอยู่ในถุงพลาสติก ฉัตรมีขนาดตั้งแต่ 1 ฉัตร แก่ขึ้นไป โดยฉัตรยอดมีใบแก่เต็มที่ เมื่อวัดจากรอยแตกตาถึงปลายยอดมีความยาวไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร
      • ถุงพลาสติก ที่ใช้เพาะชำขนาดประมาณ 4 1/2 x 14 นิ้ว เป็นอย่างน้อย และเจาะรูระบายน้ำออก
      • ดินที่ใช้บรรจุถุง จะต้องมีลักษณะค่อนข้างเหนียว เมื่อย้ายถุงดินไม่แตกง่าย มีดินบรรจุถุงสูงไม่น้อยกว่า 10 นิ้ว
      • ต้นตอตาที่นำมาชำถุง ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐานที่สถาบันวิจัยยางกำหนด
      • ต้นยางชำถุงต้องปราศจากโรค และศัตรูพืช และไม่มีวัชพืชขึ้นในถุง
  4. ขั้นตอนการปลูกต้นยางชำถุง
    1. ใช้มีดคม ๆ กรีดก้นถุงออกประมาณ 1 นิ้ว ถ้ามีรากม้วนเป็นก้อนบริเวณก้นถุงให้ตัดรากที่ม้วนออก
    2. วางต้นยางชำถุงในหลุม แล้วกรีดถุงจากก้นถึงปากถุง ทั้งสองด้าน ให้ขาดออกจากกัน กลบดินลงหลุมจนเกือบเต็ม
    3. ดึงถุงพลาสติกออกในขณะที่ดึงต้องระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก
    4. หลังจากดึงถุงออกแล้ว เอาดินกลบจนเสมอปากหลุม และพูนดินบริเวณโคนต้นให้สูงเล็กน้อย เพื่อป้องกันน้ำขังในหลุมปลูก
  1. ข้อควรคำนึง
    1. ควรปลูกต้นยางชำถุงในช่วงต้นฤดูฝน และมีปริมาณฝนตกอย่างเพียงพอ และสม่ำเสมอ
    2. ในการขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูก อย่าให้ดินในถุงแตก เพราะจำทำให้ต้นยางตาย
    3. ในการปลูกต้นยางชำถุง ต้องระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก เพราะจะทำให้ระบบราก กระทบกระเทือน และการปลูกต้องอัดดินบริเวณห่างจากโคนต้นเล็กน้อยให้แน่น
    4. ถุงขนาด 4 1/2 x 14 นิ้ว เหมาะสำหรับการเลี้ยงต้นยางชำถุงไม่เกิน 2 ฉัตร
    5. ต้นยางชำถุงที่ย้ายปลูก ต้องมีฉัตรใบที่แก่ โดยสังเกตจากยอดของฉัตรเริ่มผลิยอดอ่อนปุ่มขึ้นมา

พันธุ์ยาง RRIT408(984)


คุณกัลยา แนะนำ และวิธีการการดูลักษณะใบ ของสายพันธุ์ RRIT408(984)

การขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูก

          เมื่อต้นยางชำถุงเจริญเติบโตได้ 1-2 ฉัตร มีใบแก่เต็มที่ โดยสังเกตจากยอดของฉัตรเริ่มผลิยอดอ่อนเป็นปุ๋มขึ้นมา จนขนย้ายไปปลูกในแปลงได้ กรณีขนย้ายต้นยางชำถุงไปปลูกขณะที่ฉัตรยังมีใบอ่อน หรือเป็นเพสลาด จะทำให้ต้นเหี่ยวเฉาโดยเร็วและอาจตายในที่สุด และในขณะขนย้ายต้องระมัดระวังอย่าให้ดินในถุงแตก เพราะหากดินในถุงแตกจะมีผลทำให้ต้นยางชำถุงมีอัตราการตายสูง


การดูแลรักษาต้นยางชำถุง

  1. การรดน้ำ  ควรให้น้ำในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของต้นยางชำถุง อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป ถ้ามากเกินไปอาจทำให้น้ำท่วมขังในแปลงได้ และบางครั้งอาจทำให้โรคบางชนิดระบาดในแปลงได้ง่าย แต่ถ้าน้อยเกินไปจะทำให้ดินในถุงแห้ง ซึ่งจะส่งผลต่อตาที่กำลังผลิออกมา ชะงักการเจริญเติบโต และตายได้ ดังนั้นจึงควรให้น้ำทุกวันในเช่วงเช้าและเย็น
  2. การใส่ปุ๋ย  ใช้ปุ๋ยเม็ดสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยผสมสูตร 20-8-20 ในแหล่งปลูกยางเดิม และสูตร 20-10-12 ในแหล่งปลูกยางใหม่ อัตรา 5 กรัม ต่อถุง ใส่หลังจากตาผลิออกมาแล้ว 2-3 สัปดาห์ และใส่ครั้งต่อไปทุก ๆ 2-4 สัปดาห์ การใส่ปุ๋ยควรระมัดระวังเพราะปุ๋ยถูกใบอ่อนของต้นยางจะทำให้ใบเกิดรอยไหม้
  3. การกำจัดวัชพืช  วัชพืชที่งอกในถุงที่ปักชำต้นยางอยู่นั้น จะเป็นตัวการแย่งน้ำและอาหาร ทำให้ต้นยางชำถุงเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงควรควบคุมและกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ โดยการใช้แรงงานถอนขณะที่ดินมีความชื้นสูง เพราะถอนได้ง่าย และกระทบกระเทือนต่อระบบรากน้อย
  4. การตัดกิ่งแขนง  หลังจากปักชำต้นตอตายางในถุงแล้ว ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็จะเริ่มมีกิ่งแขนงที่แตกออกมาจากตาของต้นเดิม กิ่งแขนงเหล่านี้จำเป็นต้องตัดทิ้งอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เพราะหากปล่อยเอาไว้จะมีผลทำให้ตาที่ติดเอาไว้ไม่แตก หรือมีผลต่อตาที่แตกแล้ว ทำให้ต้นเคระแกรนไม่เจริญเติบโต
  5. การคัดต้นยางชำถุงทิ้ง  ในการผลิตต้นยางชำถุง มักจะพบต้นที่มีลักษณะผิดปกติอยู่เสมอ ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากนำต้นตอตายางที่มีคุณภาพต่ำมาปักชำ การจัดการการผลิตไม่ได้มาตรฐาน และต้นยางชำถุงได้รับความเสียหายรุนแรงจากโรค ถ้าต้นยางชำถุงมีลักษณะผิดปกติให้คัดทิ้งทัน ไม่แนะนำไปปลูก มิฉะนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายในภายหลัง
  6. การป้องกันกำจัดโรค  โรคที่ระบาดและทำความเสียหายให้กับต้นยางชำถุงเกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น โรคราแป้ง โรคใบจุดตานก โรคใบจุดนูน และโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา ซึ่งโรคแต่ละชนิดจะแพร่ระบาดในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป

การเก็บรักษาต้นตอตายาง

          ตามปกติต้นตอตายางที่ขุดถอนขึ้นมาแล้ว ควรนำไปปลูกให้เสร็จโดยเร็ว ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ความงอกสูญเสียไป Keaopbamrang (1977) ได้รายงานผลการนำต้นตอตายางจากแปลงขยายพันธุ์ยางไปปลูกยังแปลงปลูกมีระยะสูงสุดเพียง 5 วัน ถ้าช้าไปกว่านี้ ต้นตอตายางจะตายถึง 20-30% แต่ในบางครั้งมีความจำเป็นไม่สามารถปลูกได้ทันที เนื่องจากต้องขนส่งจากแหล่งผลิตไปยังแหล่งปลูกเป็นระยะไกล ๆ หรือบางครั้งต้องชะลอการปลูกเอาไว้ ดังนั้นการปฏิบัติต่อต้นตาตายางโดยใช้วิธีการเก็บรักษาเพื่อยืดอายุของต้นตาตายางให้มีความงอกอยู่ได้นานมากที่สุด สถาบันวิจัยยางมาเลเซีย (1982) ได้แนะนำวิธีการบรรจุต้นตอตายางในห่อพลาสติกสามารถเก็บรักษาไว้ได้นาน 20-25 วัน จะช่วยลดปัญหาต้นตอตายางแห้งตายและเสียหายในระหว่างการขนส่งได้เป็นอย่างดี Premakumari et. Al. (1974) ได้รายงานว่าระดับความชื้นในการเก็บรักษาเป็นปัจจัยในการคงความงอกของต้นตอตายาง

      

          จรินทร์ และคณะ (2521) ได้ทดลองนำต้นตอตาเขียวพันธุ์ GT1 RRIM600 PB5/51 บรรจุลังซึ่งรองด้วยฟางข้าว ใช้เวลาในการขุดถอนและขนย้ายเป็นเวลา 3 วัน แล้วทยอยปลูกทุกวันช่วง 14 วัน ต้นตอตาเขียวที่รอการปลูกจะเก็บไว้ในที่ร่ม โดยปิดฝาลังเอาไว้และรดน้ำวันละครั้ง ผลปรากฏว่าต้นตอตาเขียวที่ปลูกวันที่ 8 ของการเก็บ จะให้ผลสำเร็จในการปลูกมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการเก็บรักษาต้นตอตายางที่ปฏิบัติได้ง่ายและสะดวกที่สุด โดยการนำต้นตอตายางวางเรืองบนฟางข้าวแล้วใช้ฟางคลุมปิดอีกครั้ง รดน้ำให้ชุ่มเพื่อรักษาความชื้น วิธีการนี้เรียกว่าบ่มต้นตอตายาง ซึ่งการบ่มต้นตอตายางไม่ควรบ่นนานเกิน 10 วัน เพราะต้นตอตายางที่เก็บรักษาไว้อาจเน่าเสียได้ สำหรับในบางท้องที่ที่ไม่สามารถหาฟางข้าวมาคลุมต้นตอตายางได้ อาจใช้กระสอบป่านแทนก็ได้

การปักชำต้นตอตายาง

การปักชำต้นตอตายาง มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
  1. รดน้ำให้ดินในถุงชุ่มชื้นจนอ่อนตัวมากที่สุด แต่ถ้าต้นตอตายางที่จะปักชำมีจำนวนน้อยก็อาจจะนำถุงที่บรรจุดินแล้วมาแช่น้ำก่อนปักชำต้นตอตายางก็ได้
  2. ใช้ไม้ปลายแปลมหรือวัสดุอย่างหนึ่งอย่างใดที่มีปลายแหลม และมีขนาดเล็กกว่าต้นตอตายาง แทงดินในถุงให้เป็นหลุมลึกน้อยกว่าความยาวของรากต้นตอตายางที่ตัดไว้
  3. นำต้นตอตายางที่เตรียมไว้แล้วมาปักชำในถุง โดยให้รากแก้วจมลงไปจนถึงรอยต่อคอดินระหว่างรากกับลำต้น
  4. อัดดินบริเวณรอบโคนต้นของต้นตอตายางที่ปักชำให้แน่น ให้ตำแหน่งของแผ่นตาอยู่เหนือผิวดินประมาณ 2 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง แล้วนำต้นตอตายางที่ปักชำไปว่างเรืองในโรงเรือนที่มีการพรางแสงต่อไป

การใช้สารออร์โมนกับต้นตอตายาง

ฮอร์โมนต้นตอยาง
          การใช้สารฮอร์โมนหรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช (Plant growth regulators) ในกลุ่มออกซิน (Auxins) กับต้นตอตายาง โดยทาบริเวณรากแก้ว จะช่วยกระตุ้นให้เกิดจุดกำเนิดรากและการพัฒนาของรากแขนงได้เร็วและมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มจำนวน ปริมาณ และความยาวของรากแขนงมากขึ้นกว่าการไม่ใช้สาร (Pakianathan et. Al.,1978) จากการศึกษาการใช้สารออกซินเร่งรากแขนงของ Hafsah และ Pakianathan (1979) ได้พบว่าการใช้ Indolebutyric acid (IBA) 2,000 ppm. ในรูปดินขาวผม Captan-50 (5%) และโปแตสเซียมไนเตรท (1% KN03) มีประสิทธิภาพในการเร่งรากแขนงข้างมากที่สุด วิสุทธิ์ (2526) ได้รายงานว่าการใช้ IBA 3,000 ppm. ในรูปผงดินขาวผสมน้ำ 2.5 เท่า จุ่มรากต้นตอตายางก่อนปลูก ทำให้ต้นตอตายางเจริญเติบโตสม่ำเสมอดีกว่า ทำให้ต้นยางทนต่อสภาวะอากาศแล้วได้ดีกว่าปกติ สามารถลดอัตราการตายของต้นยางลงได้มากกว่า 50% ส่วนค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นต้นละ 30 สตางค์ นอกจากนี้ยังพบว่าสาร IBA ที่เตรียมไว้ในรูปผงผสมดินขาวสามารถเก็บไว้ในที่มืด ในสภาพอุณหภูมิปกติได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่เสื่อมคุณภาพ
          Hafsah (1982) รายงานผลการทดสอบสารเร่งการแตกตาของต้นตาตายางพันธุ์ RRIM600 ผลการแตกตาหลังจากใช้สารแล้ว 2 เดือน ปรากฏว่าเบนซิลอดินิน (BA) 2,000 ppm. สามารถกระตุ้นการแตกตาได้ดีกว่าการใช้สาร GA, kinetin, ethylene และต้นที่ไม่ใช้สาร
          สาร IBA มีคุณสมบัติเป็น auxin ซึ่งมีผลต่อการเกิดและพัฒนาของรากแขนง ส่วนสาร BA ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่ม Cytokinin มีคุณสมบัติแก้การฟักตัวของตาข้าง กระตุ้นให้มีการแบ่ง cell อิทธิพลของสารทั้งสองในการเลี้ยงเนื้อยเยี่อของพืชชนิดต่าง ๆ หลายชนิดพบว่าสารทั้งสองกลุ่มนี้มักกะมีปฏิกริยาสัมพันธุ์กัน คือถ้าในอาหารที่เลี้ยงมี auxins สูง จะทำให้เนื้อเยื่อเกิดรากมาก แต่ถ้าในอาหารมี Cytokinins สูง เนื้อเยื่อจะมีการเจริญเติบโตทางด้านตามาก แต่จะเกิดรากน้อย (Bidwell. 1979) และจากการศึกษาอิทธิพลของสารทั้งสองชนิดกับต้นตอตายางของชัยโรจน์ (2528) พบว่าสาร Ba ได้แสดงผลต่อการเร่งการแตกตาตั้งแต่อายุ 1 สัปดาห์  ส่วนสาร IBA เริ่มแสดงอิทธิพลเมื่ออายุ 3 สัปดาห์ การใช้สาร IBA ความเข้มข้น 3,000 ppm. ให้ผลสูงสุดในการเร่งการแตกตาและการเจริญเติบโตของต้นตอตายาง แต่ไม่แตกต่างกับการใช้ IBA 2,000 ppm. การใช้ IBA ร่วมกับ BA จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเจริญเติบโตและการแตกตาได้ดีขึ้น สาร BA ควรใช้ความเข้มข้น 2,000 ppm. ในรูปของแป้งเปือกได้ผลดีกว่าการใช้ในรูปสารละลาย
1. การเตรียมและการใช้ฮอร์โมนเร่งราก  กรณีต้องการ IBA ความเข้มข้น 3,000 ppm. สามารถเตรียมได้ดังนี้
  • ชั่งสาร IBA บริสุทธิ์จำนวน 3 กรัม ด้วยเครื่องชั่งชนิดละเอียด ใส่ในถ้วยแก้วขนาด 50 มล. รินแอลกอฮอล์ 95% จำนวน 20 มล. ลงในถ้วยแก้ว ใช้แท่งแก้วขนาดเล็กคนจนละลายหมดแล้วเทลงผสมในแอลกอฮอร์ 50% จำนวน 480 มล. รวมเป็น 500 มล.
  • ชั่งดินขาว 1 กิโลกรัม KNO3 10 กรัม และ Captan-50 50 กรัม แล้วนำ IBA ที่ละลายในแอลกอฮอร์ 500 มล. ผสมน้ำ 2 ลิตร คนให้อยู่ในสภาพแขวนลอย
  • นำต้นตอตายางที่ตัดแต่งรากแขนง และรากฝอยออกจนหมดแล้ว มาจุ่มในสารละลาย IBA ที่เตรียมไว้ให้ทั่วรากแก้ว แล้วนำไปผึ่งในที่ร่มให้สารละลายแห้ง จึงนำไปปักชำในถุง
2. การเตรียมและการใช้ฮอร์โมนเร่งการแตกตา กรณีต้องการ BA ความเข้มข้น 2,000 ppm. สามารถเตรียมได้ดังนี้
  • ชั่งสาร BA บริสุทธิ์จำนวน 2 กรัม ด้วยเครื่องชั่งชนิดละเอียด ใส่ในถ้วยแก้วขนาด 50 มล. รินแอลกอฮอล์ 95% จำนวน 20 มล. ลงในถ้วยแก้ว ใช้แท่งแก้วขนาดเล็กคนจนละลายหมดแล้ว
  • ชั่งลาโนลิน จำนวน 500 กรัม แล้วทำให้เหลวโดยอาศัยความร้อน จากนั้นจึงน้ำ BA ที่ละลายในแอลกอฮอล์มาเทงในลาโนลินที่ละลายแล้ว คนให้เข้ากันแล้วตั้งไว้ให้เย็น ลาโนลินจะคืนสภาพเป็นครีมเหนียว ๆ
  • ใช้พู่กันจุ่มสาร BA ในรูปครีมเหนียว ไปป้ายบริเวณตาของต้นตอตายางที่ต้องการให้แตกออกมา

การจัดเตรียมวัสดุสำหรับการผลิต

  1. ถุงพลาสติก  ควรใช้ถุงพลาสติกสีดำที่มีคุณภาพดี ซึ่งมีอายุใช้งานในสภาพกลางแจ้งได้เป็นเวลานาน ถ้าเลือกถุงราคาถูก และไม่มีคุณภาพจะทำให้ถุงฉีกขาดเร็ว ซึ่งจะเกิดปัญหาในการเปลี่ยนถุง ขนาดของถุงที่เหมาะสมสำหรับผลิตต้นยาง 1-2 ฉัตร ควรมีขนาด 4 1/2 x 14 นิ้ว หรือ 11 x 35 เซนติเมตร มีความหนาประมาณ 0.05 มิลลิเมตร ซึ่งเมื่อบรรจุดินแล้วจะมีน้ำหนัก ประมาณ 2 กิโลกรม ถุงต้องมีรูระบายน้ำด้านข้างขนาด 3 มิลลิเมตร จำนวน 3 แถว ๆ ละ 5-6 รู โดยห่างจาก้นถุงประมาณ 1-2 นิ้ว
  2. ดินบรรจุถุง  ควรเลือกเฉพาะหน้าดินที่เป็นดินร่วนเหนียวที่มีความสมบูรณ์สูง มีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศดี และมีความเป็นกรดเป็นด่างระหว่าง 4-5-5 ถ้าเป็นดินเหนียวควรผสมด้วยวัสดุอื่น ๆ เช่น ทราย แกลบ หรือขุยมะพร้าว อัตรา 2:1 (ดิน 2 ส่วน ต่อวัสดุปลูก 1 ส่วน) ในการเตรียมดินบรรจุถุงควรผสมปุ๋ยหินฟอสเฟต (0-3-0) ประมาณ 10 กรัมต่อถุง  หรือประมาณ 5 กิโลกรัมต่อดิน 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสามารถนำไปบรรจุถุงได้ประมาณ 500 ถุง ข้อควรระวังคือต้องใช้ดินร่วนปนเหนียวที่ไม่แตกออกจากกันเวลาขนย้ายต้นยางไปปลูกในแปลง  ถ้าดินแตกออกจากกันจะทำให้เกิดการกระทบกระเทือนต่อระบบราก และอาจทำให้ต้นยางตายได้ สำหรับการบรรจุดินลงถุงควรอัดดินให้แน่นพอสมควร และควรบรรจุดินล่วงหน้าก่อนการปักชำต้นยางหลังจากบรรจุดินเสร็จแล้ว ควรรดน้ำพอประมาณเพื่อให้ดินยุบ หลังจานั้น 1-2 วันควรเติมดินให้อยู่ระดับต่ำกว่าปากถุงที่พับแล้ว 2-3 เซนติเมตร
  3. ต้ตตอตายาง  ต้องเป็นต้นตอตายางที่มีคุณภาพดี สมบูรณ์แข็งแรง ได้ขนาดตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร และตัดแต่งรากเรียบร้อยแล้ว ส่วนต้นที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น ต้นที่มีราคคดงอ รากแก้วขาดสั้นและมีหลายราก แผ่นตาเสียหายบางส่วน แผ่นตาติดไม่สนิทกับลำต้น ต้นที่มีขนาดเล็กและโตกว่ามาตรฐาน ต้นที่มีส่วนหนึ่งส่วนใดเสียหายจาการขุดถอน  และต้นที่มีโรค และแมลงรบกวน ต้นเหล่านี้ต้้องคัดทิ้งไปไม่ควรนำมาผลิตต้นยางชำถุง

ต้นตอตายางที่ได้มาตรฐาน ควรมีคุณสมบัติดังนี้

  1. รากแก้วสมบูรณ์ มีรากเดียว ลักษณะไม่คดงอ เปลือกหุ้มรากไม่เสียหาย
  2. ความยาวของรากวัดจากโคนคอดินไม่น้อยกว่า 20 เซนติเมตร
  3. ต้นตอตายางมีลำต้นสมบูรณ์ตรง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางวัดที่ตาระหว่าง 0.9-2.5 เซนติเมตร
  4. ความยาวของลำต้นจากโคนคอดินถึงตาไม่เกิน 10 เซนติเมตร และจากตาถึงรอยตัดลำต้นจะต้องไม่น้อยกว่า 8 เซนติเมตร
  5. แผ่นตาเขียวมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 0.9 เซนตเมตร ความยาวไม่น้อยกว่า 5 เซนติเมตร สภาพแผ่นตาสมบูรณ์แนบติดสนิทกับต้นตอ ไม่เป็นสีเหลือง หรือรอยแห้งเสียหาย ตำแหน่งของตาต้องไม่กลับหัว และควรเลือกใช้ตาก้านใบ
  6. แผ่นตาที่นำมาติดได้จากแปลงกิ่งตายางที่ได้รับการรับรองจจากกรมวิชาการเกษตร
  7. ต้นตอตายางต้องอยู่ในสภาพสดสมบูรณ์ ปราศจากโรคและศัตรูพืช

การจัดเตรียมแปลง และโรงเรือน

  1. การเตรียมพื้นที่  ปรับพื้นที่ของแปลงเพาะให้เรียบสม่ำเสมอ หรือลาดเอียงเล็กน้อย และควรขุดคูรอบ ๆ แปลงเพาะเพื่อเป็นทางระบายน้ำ
  2. การพรางแสง  ในระยะแรกของการปักชำ ขณะที่ต้นยางชำถุงยังไม่มีรากใหม่ และตายังไม่แตกออกมา จะต้องทำการพรางแสงเพื่อลดความเข้มของแสงลง ให้ปริมาณแสงผ่านลงไปในโรงเรือนเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยใช้ตาข่ายพรางแสงชนิดความเข้มของแสง 60% ติดตั้งบนโรงเรือนให้สูงกว่าระดับดินประมาณ 2-2.50 เมตร เมื่อต้นยางได้ขนาดที่จะนำไปลูกควรลดการพรางแสงลง และให้ต้นยางชำถุงอยู่ในสภาพโล่งแจ้งสักระยะหนึ่ง ไม่ควรนำออกจากโรงเรือนปลูกทันที เพราะต้นยางชำถุงยังปรับตัวไม่ทัน อาจทำให้เกิดอาการใบไหม้ และตายได้
  3. การวางแถวต้นยางชำถุง  การวางแถวต้นยางชำถุงอาจวางได้ 2 ลักษณะ คือ การวางบนพื้นดินและการวางไว้ในร่องดินที่ขุด ในแหล่งที่มีฝนตกชุกควรวางไว้บนพื้นดิน เพราะถ้ามีน้ำท่วมขังในร่องดินอาจทำให้ต้นยางชำถุงเสียหายได้ ส่วนในแหล่งอื่น ๆ อาจจะเลือกวางต้นยางชำถุงบนพื้นดิน หรือวางในร่องดินก็ได้แล้วแต่จะเหมาะสม กรณีวางไว้บนพื้นดินควรใช้ไม้ไผ่หรือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งทำเป็นกรอบกั้นเอาไว้ ระดับของกรอบไม้ควรให้อยู่ประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวถุง แต่กรณีวางในร่องดินควรขุดดินให้เป็นร่องลึกลงไป 1 ใน 3 ของความยาวถุง ความกว้างของแถวควรใช้ต้นยางชำถุงจำนวน 2-3 ถุง ไม่ควรวางมากกว่านี้เพราะจะทำให้ต้นยางแน่นมาก และไม่สะดวกในการปฏิบัติดูแลรักษา เช่น การรดน้ำ การกำจัดวัชพืช การใส่ปุ๋ย และการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูยาง ความยาวของแถวไม่จำกัดขึ้นอยู่กับความสะดวกในการปฏิบัติงานและรูปร่างของพื้นที่แปลง ระยะระหว่างแถว หรือบล็อกกว้างประมาณ 75 เซนติเมตร เพื่อใช้เป็นทางเดิน สำหรับทิศทางของการวางแถวควรวางแถวแต่ละแถวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ เพื่อประโยชน์ในการพรางแสง
IMG_0521