ขอต้อนรับสู่ ยางพันธุ์ดีพัทลุง ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ผลิตยางพันธุ์ดี เป็นรายแรก ของจังหวัดพัทลุง ***รับรองพันธุ์แท้โดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ตอนนี้เปิดจอง สายพันธุ์408 แล้ว ข่าวดี....แปลงแม่ขลีพัทลุง เปิดบริการแล้ว ***

หลักเบี้องต้นสำหรับการทำแผ่นยางดิบคุณภาพดี

หลักเบื้องต้นในการทำยางแผ่นดิบคุณภาพดี

น้ำยางพารา"ทำการเติมน้ำสะอาดลงในน้ำยางสดที่กรองแล้ว 1 เท่าตัว คนให้เข้ากัน ในกรณีที่เป็นน้ำยางจากต้นยางที่เพิ่งเปิดกรีดปีแรก ๆ ก็ควรผสมน้ำให้น้อยลง เป็นน้ำยาง 3 ส่วน น้ำ 2 ส่วน จากนั้นตวงส่วนผสมของน้ำยางและน้ำนี้ใส่ตะกง ๆ ละ 5 ลิตร แล้วผสมน้ำกรดฟอร์มิคในอัตราน้ำกรด 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 3 กระป๋องนม กวนน้ำยางด้วยที่กวน 1-2 เที่ยว แล้วค่อย ๆ เทส่วนผสมของน้ำกรดฟอร์มิค 1 กระป๋องนมต่อน้ำยาง 1 ตะกง"
ข้อความข้างต้น เป็นคำแนะนำที่เรามักพบเห็นจนชินตา ซึ่งก็เป็นคำแนะนำที่ง่ายและเข้ากับเกษตรกรชาวสวนยางพาราเป็นอย่างดี แต่ถ้าหากว่า เป็นเจ้าของสวนยางพาราที่มีสวนยางมากขึ้นต้องการทำยางแผ่นดิบด้วยตะกงตับ หรือเป็นผู้ที่คิดจะทำธุรกิจรับซื้อน้ำยางสดมาทำเป็นยางแผ่นดิบเพื่อขาย จำเป็นต้องใช้ตะกงตับ อัตราส่วนน้ำ,น้ำยาง,น้ำกรดฟอร์มิก ที่แนะนำ ก็คงจะใช้ไม่ได้ เราลองมาวิเคราะห์คำแนะนำข้างต้นเพื่อสร้างเป็นหลักการที่ดูเป็นวิชาการและสามารถนำไปใช้ได้ทั่วไป
  1. "ทำการเติมน้ำสะอาดลงในน้ำยางสดที่กรองแล้ว 1 เท่าตัว" เรื่องความเข้มข้นของน้ำยางสดโดยทั่วไปจะคิดว่าน้ำยางสดมีความเข้มข้นประมาณ 30 % ถ้าเติมน้ำลงไป 1 เท่าตัว ก็จะทำให้น้ำยางมีความเข้มข้นลดลงเหลือ 15 % นั่นก็คือว่า ในการทำยางแผ่นดิบคุณภาพดี ควรผสมน้ำสะอาดลงไปให้น้ำยางเหลือความเข้มข้น 15 % หรือ 12.5 % ก็ได้(ยิ่งน้ำมากแผ่นยางยิ่งมีสีเหลืองสวยและคุณภาพยางก็ดีด้วย)
  2. น้ำกรดฟอร์มิค"ผสมน้ำกรดฟอร์มิคในอัตราน้ำกรด 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 3 กระป๋องนม" เรื่องความเข้มข้นของน้ำกรดฟอร์มิก โดยทั่วไปจะมีความเข้มข้น 90 % (มีตั้งแต่ 85-94 %) กรดฟอร์มิก 2 ช้อนแกง เท่ากับ 24 ซีซี น้ำ 3 กระป๋องนม เท่ากับ 900 ซีซี นั่นก็คือว่า
    น้ำ 900 ซีซี มีจำนวนกรดฟอร์มิกอยู่ 24 ซีซี
    ถ้าน้ำ 100 ซีซี จะมีจำนวนกรดฟอร์มิกอยู่ 24/900x100 ซีซี
    นั่นคือ ในน้ำ 100 ซีซี จะมีจำนวนกรดฟอร์มิกอยู่ เท่ากับ 2.66 ซีซี หรือมีเนื้อกรดจริงเพียง 2.4 กรัม-เนื่องจากเป็นกรด 90%
    หรือสรุปง่าย ๆ ว่า ต้องทำสารละลายกรดฟอร์มิกให้มีความเข้มข้น 2.0-2.5 % ก่อนนำไปใช้ (การที่ทำให้กรดเจือจางมากขึ้นก็จะส่งผลให้น้ำกรดผสมกับน้ำยางได้ดีอย่างทั่วถึงและรวดเร็วขึ้น)
  3. "ค่อย ๆ เทส่วนผสมของน้ำกรดฟอร์มิค 1 กระป๋องนมต่อน้ำยาง 1 ตะกง(5 ลิตร)" จากข้อ 1 น้ำยางความเข้มข้น 15 % ถ้า 1 ตะกงหรือ 5 ลิตร
    คำนวณเป็นเนื้อยางแห้งแล้วได้เท่ากับ 750 กรัม
    จากข้อ 2 กรดฟอร์มิกที่มีใน1 กระป๋องมีกรดอยู่ 8 ซีซี
    แต่กรดนี้เป็นกรด 90 % นั่นก็คือว่า
    กรดฟอร์มิค จำนวน 100 ซีซี มีเนื้อกรดอยู่จริง เท่ากับ 90 กรัม
    ถ้ากรดฟอร์มิค เพียง 8 ซีซี จะมีเนื้อกรดอยู่จริง เท่ากับ 90/100x8 กรัม
    เท่ากับ 7.2 กรัม
    แสดงว่า
    เนื้อยางแห้ง 750 กรัม ต้องใช้เนื้อกรดฟอร์มิค 7.2 กรัม
    ถ้าเนื้อยางแห้ง 100 กรัม ต้องใช้เนื้อกรดฟอร์มิค 7.2/750x100 กรัม
    เท่ากับ 0.96 กรัม นั่นคือ
    ต้องใช้เนื้อกรดจริง 0.4-0.9 % ของเนื้อยางแห้ง (การใช้เนื้อกรดจริงน้อย ระยะเวลาในการแข็งตัวก็จะนานขึ้น เช่น ถ้าใช้เนื้อกรดจริง 0.4 % ของเนื้อยางแห้ง ก็ทิ้งไว้รีดพรุ่งนี้ได้ แต่ถ้าใช้เนื้อกรดจริง 0.9 % ยางจะแข็งตัวพอดีภายใน 30-45 นาที)
สรุปทั้ง 3 ข้อ ก็คือ ในการทำยางแผ่นดิบคุณภาพดี นอกจากจะต้องรักษาความสะอาดในทุกขั้นตอนแล้ว ก็ควรผสมน้ำให้น้ำยางมีความเข้มข้น 12.5-15 % จากนั้นผสมสารละลายของน้ำกรดฟอร์มิคที่มีความเข้มข้น 2.0-2.5 % ในอัตรา 0.4-0.8 % ของเนื้อยางแห้ง
เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้ คนที่เคยเรียนวิชาเคมีมาบ้างก็คงจะนึกถึง
M1V1 = M2V2 equation.
โดย M =ความเข้มข้น  และ V=ปริมาตร

สูตรนี้มีประโยชน์ในการใช้เตรียมสารละลายต่าง ๆ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความเข้มข้นของสาร หรือปริมาตรของสารที่จะใช้
ตัวอย่างที่ 1: มีกรดฟอร์มิกชนิด 90% อยู่แล้ว 1 ถัง อยากทราบว่าต้องแบ่งกรดฟอร์มิกมากี่ลิตร เพื่อใช้ทำสารละลายกรดฟอร์มิกความเข้มข้น 2.5 % จำนวน 12 ลิตร
วิธีทำ     จากสูตร M1V1 = M2V2 
 แทนค่า                 90V1 = 2.5x 12                        
                              90V1 = 30                            
                                  V1 = 30/90                             
                                  V1 = 30/90                            
                                  V1 = 0.333
หรือ
ต้องแบ่งกรดฟอร์มิกมา = 0.333 ลิตร หรือ 333 ซีซี แล้วผสมน้ำ 12 ลิตร นั่นเอง

ตัวอย่างที่ 2: เก็บน้ำยางสดจากสวนยางมาได้ 40 ลิตร มีความเข้มข้น 34% ต้องการผสมน้ำให้น้ำยางมีความเข้มข้นลดลงเหลือ 15% จะได้น้ำยางกี่ลิตร
(และต้องผสมน้ำกี่ลิตร)
วิธีทำ     จากสูตร M1V1 = M2V2 
  แทนค่า               34x40 = 15x V2                           
                               1360 = 15x V2                              
                                   V2 = 1360/15                              
                                   V2 = 90.6
หรือ
จะได้น้ำยางที่มีความเข้มข้น 15 % จำนวน 90.6 ลิตร หรือต้องผสมน้ำเพิ่มไปอีก  50.6 ลิตร นั่นเอง


ขอบคุณข้อมูลมาจาก http://www.live-rubber.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น