ขอต้อนรับสู่ ยางพันธุ์ดีพัทลุง ซึ่งเป็นเจ้าของผู้ผลิตยางพันธุ์ดี เป็นรายแรก ของจังหวัดพัทลุง ***รับรองพันธุ์แท้โดยสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ตอนนี้เปิดจอง สายพันธุ์408 แล้ว ข่าวดี....แปลงแม่ขลีพัทลุง เปิดบริการแล้ว ***

โรครากน้ำตาล

โรคราคน้ำตาล

เกิดจากเชื้อรา phellinus noxius (corner) G.H. Cunn พบการระบาดในช่วงฤดูฝน แพร่กระจายได้โดยการสัมผัสกันระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากของต้นปกติ หรือสปอร์เชื้อราปลิวไปตามลม

ลักษณะอาการ
  1. ลักษณะเส้นใยซึ่งจับอยู่ที่ผิวเปลือกราก จะปรากฏเส้นใยสีน้ำตาลปนเหลือง เป็นขุยเหมือนกำมะหยี่ ปกคลุมผิวราก และเกาะยึดดินทรายไว้ ทำให้รากมีลักษณะขรุขระ เส้นใยเมื่อแก่จะเป็นแผ่นสีน้ำตาลดำ
  2. ลักษณะเนื้อไม้ของรากที่เป็นโรค ในระยะแรกจะเป็นสีน้ำตาลซีด ต่อมาจะปรากฎเส้นสีน้ำตาลเป็นส้นเดี่ยวลายสลับฟันปลาอยู่ในเนื้อไม้ รากที่เป็นโรคมานาน เมื่อตัดตามขวางจะเห็นลายเส้นใยที่แทรกในเนื้อไม้มีลักษณะคล้ายรวงผึ้ง เนื้อไม้จะเบาและแห้ง
  3. ลักษณะดอกเห็ดที่เกิดตรงโคนต้น หรือตอไม้เหนือพื้นดิน ดอกเห็ดจะเป็นแผ่นหนาและแข็ง ลักษณะครึ่งวงกลม ขนาดค่อนข้างเล็ก ผิวด้านบนมีรอยย่น เป็นวงสีน้ำตาลเข้ม ผิวด้านล่างมีสีเทา
คำแนะนำในการควบคุมโรค
  1. แปลงยางที่เคยเป็นโรคราก ก่อนปลูกยางซ้ำต้องใช้กำมะถันรองก้นหลุม เพื่อปรับ pH ให้เหมาะสม
  2. หากพบโรค ควรขุดต้นและรากเผาทำลายให้หมด
  3. ขุดคูล้อมบริเวณต้นที่เป็นโรค ป้องกันการสัมผัสกันของราก ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น
  4. ในต้นที่เริ่มเป็นโรคให้ขุดินรอบโคนต้นเป็นร่องแล้วใช้ Tridemorph ราดโคนต้นทุก 6 เดือน
อย่างไรก็ตามในการป้องกันและควบคุมโรครากยางพาราให้ได้ผลสำเร็จจะต้องมีมาตรการในการจัดการตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการปลูกไปจนถึงหลังปลูก หรือระยะที่ต้นยางให้ผลผลิตแล้วอย่างน้อย 5-6 ปี ดังนี้
  1. การเตรียมพื้นที่ปลูกยางควรทำลายตอไม้ ท่อนไม้เก่าออกให้หมด ไถพลิกหน้าดินตากแดดเพื่อกำจัดเชื้อราที่เจริญอยู่ในดิน และในเศษไม้เล็ก ๆ ที่หลงเหลืออยู่ในดิน
  2. ในแหล่งที่มีโรคระบาด หลังการเตรียมดินควรปล่อยพื้นที่ว่างใว้ประมาณ 1-2 ปี หรือปลูกพืชคลุมดินตระกูลถั่ว เพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชและจุลินทรีย์ในดินบางชนิดที่เป็นพิษต่อเชื้อราสาเหตุโรคราก
  3. แปลงยางที่มีประวัติการเป็นโรครากมาก่อน แนะนำให้ใช้กำมะถันผงผสมดินในหลุมปลูก 240 กรัมต่อหลุม เพื่อปรับสภาพ pH ดิน ให้เป็นกรด เหมาะต่อการเจริญของแอนทาโกนิสต์ บางจำพวก ซึ่งเป็นเชื้อปฏิปักษ์ต่อโรครากขาว และป้องกันการเจริญของเชื้อราสาเหตุโรครากเข้าทำลายรากยาง
  4. หลังจากปลูกยางไปแล้ว 1 ปี ควรตรวจดูพุ่มใบเพื่อค้นหาต้นยางที่เป็นโรคราก ควรตรวจซ้ำเป็นระยะ ซึ่งความถี่ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ถ้ามีต้นเป็นดรครากไม่สูงมากนัก อาจตรวจซ้ำทุก 3 เดือน เมื่อพบต้นยางเป็นโรครุนแรงไม่อาจรักษาได้ ควรขุดต้นเผาทำลายเสีย และรักษาต้นข้างเคียงโดยการใช้สารเคมี ส่วนบริเวณไม่เป็นโรค ควรทำการตรวจปีละ 1-2 ครั้ง การขุดดูที่ราก แนะนำให้ปฏิบัติเมื่อพบว่าพุ่มใบมีอาการผิดปกติแล้วเท่านั้น  ต้นยางอายุน้อยที่เป็นโรครากนั้น การาป้องกันกำจัดมีวัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการระบาดของโรค ดังนั้น เมื่อพบต้นเป็นโรครากจึงควรขุดทำลายเสียให้หมด
  5. ต้นยางที่มีอายุมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ควรขุดคูล้อมบริเวณต้นเป็นโรค (ขนาดคูกว้าง 30 เซนติเมตร) เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่นโดยการสัมผัสกันของราก
  6. ไม่ควรปลูกพืชซ่อม หรือพืชแซมที่เป็นพืชอาศัยในพื้นที่ที่เป็นโรคราก
  7. ใช้สารเคมีสำหรับรักษาต้นที่เป็นโรคเพียงเล็กน้อย และใช้กับต้นข้างเคียงเพื่อป้องกันโรค

โรครากแดง

โรครากแดง

เกิดจากเชื้อรา Ganoderma pseudoferreum (Wakef) Over & Steinm พบการระบาดในช่วงฤดูฝน แพร่ะกระจายได้โดยการสัมผัสกันระหว่างรากที่เป็นโรคกับรากของต้นปกติ หรือสปอร์เชื้อราปลิวไปตามลม

ลักษณะอาการ

  1. ลักษณะเส้นใยซึ่งจับอยู่ที่ผิวเปลือกราก ส่วนรากที่ถูกเชื้อเข้าทำลายจะปกคลุมด้วยเส้นใยสีน้ำตาลแดงซึ่งส่วนปลายของเส้นใยที่กำลังเจริญจะเป็นสีขาครีม ลักษณะเส้นใยแก่จะจับกันเป็นแผ่นสีน้ำตาลแดงเป็นมันวาว เห็นได้ชัดเจนเมื่อล้างด้วยน้ำ
  2. ลักษณะเนื้อไม้ของรากที่เป็นโรค มีลักษณะขรุขระ เนื่องจากมีก้อนดินและหินเกาะติดอยู่ เนื้อไม้ของรากที่เป็นโรคจะเป็นสีน้ำตาลซีดและกลายเป็นสีเนื้อในระยะต่อมา วงปีของเนื้อไม้จะหลุดแยกออกจากกันได้ง่าย
  3. ลักษณะดอกเห็ดที่เกิดตรงโคนต้นหรือตอไม้เหนือพื้นดิน ดอกเห็ดจะเป็นแผ่นแข็ง ด้านบนเป็นรอยย่นสีน้ำตาลแดงเข้ม ด้านล่างมีสีขี้เถ้า ขอบดอกมีสีขาวครีม

คำแนะนำในการควบคุมโรค

  1. แปลงยางที่เป็นเป็นโรคราก ก่อนปลูกยางซ้ำต้องใช้กำมะถันรองก้นหลุม เพื่อปรับ pH ของดินให้เหมาะสม
  2. หากพบโรค ควรขุดต้นและรากเผาทำลายให้หมด
  3. ขุดคูล้อมบริเวณต้นที่เป็นโรค ป้องการการสัมผัสกันของราก ขนาดคูกว้าง 30 ซม. ลึก 60 ซม. เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น
  4. ในต้นที่เริ่มเป็นโรคให้ขุดดินรอบโคนต้นเป็นร่องแล้วใช้ tridemorph ราดโคนต้นทุก 6 เดือน

โรครากขาว

โรครากขาว

เกิดเชื้อ Rigidoporus microporus (Fr.) Overeem ZSyn: Rigidoporus lignosus (Klozsch) Imazeki) มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน โดยจะแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสระหว่างรากที่เป็นโรคของต้นกับรากของต้นปกติ หรือสปอร์เชื้อราปลิวไปตามลม โดยเชื้อราสามารถเข้าทำลายต้นยางได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

ลักษณะอาการ

  1. ลักษณะเส้นใยซึ่งจับอยู่ที่ผิวเปลือกราก เส้นใยของเชื้อรามีสีขาว เจริญแตกสาขาปกคลุมและเกาะติดแน่นกับผิวราก เมื่อเส้นใยอายุมากขึ้นจะกลายเป็นเส้นกลมนูน สีเหลือซีด
  2. ลักษณะเนื้อไม้ของรากที่เป็นโรค ในระยะแรกจะแข็งกระด้างเป็นสีน้ำตาลซีด ในระยะรุนแรงจะกลายเป็นสีครีม ต่อมาจะยุ่ยและเบา ถ้าอยู่ในที่ชื้นแฉะจะอ่อนนิ่ม
  3. ลักษณะดอกเห็ดที่เกิดตรงโคนต้น หรือตอไม้เหนือพื้นดิน จะมีลักษณะเป็นแผ่นครึ่งวงกลมแผ่นเดียวหรือซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ผิวด้านบนมีสีเหลืองส้มโดยมีสีเข้มอ่อนเรียงสลับกันเป็นวง ผิวด้านล่างมีสีส้มแดงหรือสีน้ำตาล  ขอบดอกเห็ดมีสีขาว

คำแนะนำในการควบคุมโรค

  1. แปลงยางที่เคยเป็นโรคราก ก่อนปลูกยางซ้ำต้องใช้กำมะถันรองก้นหลุม เพื่อปรับ pH ของดินให้เหมาะสม
  2. หากพบโรค ควรขุดต้น และรากเผาทำลายให้หมด
  3. ขุุดคูล้อมบริเวณต้นที่เป็นโรค เพื่อป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดไปยังต้นอื่น
  4. ในต้นที่เริ่มเป็นโรคให้ใช้สารเคมี ได้แก่ tridemorph หรือ Cyproconazole หรือ hexaconazole หรือ propiconazole หรือ fenicolonil

โรคลำต้นเน่าของยางชำถุง

โรคลำต้นเน่าของยางชำถุง (Twig Rot of Polybagrubber)

เกิดจากเชื้อรา Phytophthora nicotianae var. parasitica และ P. palmivora มักพบระบาดในแปลงเพาะชำยางชำถุงที่มีความชื้นสูง โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตกชุก โรคนี้ทำให้ต้นยางชำถุงตายอย่างรวดเร็ว การให้น้ำแบบสปริงเกลอร์จะช่วยส่งเสริมให้โรคระบาดมากขึ้น

ลักษณะอาการ : เชื้อจะเข้าทำลายที่กิ่งแขนงซึ่งแตกออกมาจากตาของยางพันธุ์ดี ทำให้เกิดรอยแผลสีดำเป็นรูปยาวรีไปตามความยาวของลำต้น และขยายพื้นพี่มากขึ้น จนกระทั่งลุกลามไปรอบต้น ทำให้กิ่งแขนงเหี่ยวแห้งตาย เพราะระบบการลำเลียงน้ำ และอาหารถูกทำลายจนหมด หากเชื้อทำลายกิ่งแขนงเพียงบางส่วน ต้นยางก็ยังสามารถเจริญต่อไปได้ ถ้าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมในเวลาอีก 1-2 สัปดาห์ ต่อมารอยแผลอาจมีลักษณะแห้งเป็นสะเก็ด

คำแนะนำในการควบคุมโรค
  1. ไม่ควรนำดินชำถุงหรือดินบริเวณที่เคยมีการระบาดของโรคมาใช้ซ้ำ
  2. ควรปรับสภาพเรือนเพาะชำไม่ให้แน่นทึบเกินไป
  3. ถ้าพบต้นยางเป็นโรคให้ตัดส่วนที่เป็นโรคออก หรือแยกออกจากแปลงและทำลาย
  4. ใช้สาร dimethomorph, cymoxanil+mancozeb หรือ metalaxyl ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน เพื่อควบคุมโรค

โรคเปลือกเน่า

โรคเปลือกเน่า (Mouldy Rot)

ที่เกิดจากเชื้อรา Ceratocystis fimbriata Ellis & Halst. เกิดจากอากาศในสวนยางถ่ายเทไม่ดี มีความชื้นสูงตลอดเวลา หรือในสวนที่มีลักษณะทึบ ปลูกถี่ โรคนี้ระบาดรุนแรงในบางพื้นที่ของจังหวัดสุราษฏร์ธานี และจังหวัดชุมพร โดยเชื้อนี้จะแพร่กระจายโดยลม แมลง และมีดกรีดยาง

ลักษณะอาการ : ระยะแรกจะเป็นรอยบุ๋ม มีสีจางบนเปลือกงอกใหม่เหนือรอยกรีด ซึ่งอาการคล้ายกับโรคเส้นดำ ต่อมาจะมีเส้นใยของเชื้อราสีเทาขึ้นปกคลุมที่รอยแผลจนสังเกตเห็นได้ชัดเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อราจะเจริญลุกลามขยายออกไป จนเห็นเส้นใยของเชื้อราเกิดเป็นแถบขนานไปกับรอยกรีด ต่อมาเปลือกจะเน่าหลุดเป็นแอ่งเหลือแต่เนื้อไม้สีดำ เมื่อเฉียนเปลือกบริเวณข้างเคียงออกดู จะไม่พบอาการเน่าลุกลาม ซึ่งต่างจากโรคเส้นดำ

คำแนะนำในการควบคุมโรค
  1. จัดการสวนยางให้อยู่ในสภาพโปร่ง โดยตัดแต่งกิ่งก้านที่ระเกะระกะออกเสีย กำจัดวัชพืชในสวนให้โล่งเตียนอยู่เสมอ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก หน้ากรีดยางจะได้แห้งเร็ว ไม่เหมาะต่อการเจริญของเชื้อ
  2. เมื่อต้นยางเป็นโรค ให้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อราทาหน้ากรีดยาง โดยขูดเอาส่วนที่เป็นโรคออกแล้วทาสารเคมี benomyl หรือ metalaxyl ฉีดพ่นหรือทาหน้ากรีดทุก 7 วัน อย่างน้อย 4 ครั้ง

โรคราสีชมพู

โรคราสีชมพู (Pink Disease)

เกิดจากเชื้อรา Corticium salmonicolor จะเข้าทำลายส่วนเปลือกของลำต้นและกิ่งแขนงต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป หรือเมื่อต้นยางเริ่มสร้างทรงพุ่มโดยเฉพาะตรงบริเวณคาคบในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง ทำให้ต้นยางแคระแกร็น ไม่สามารถเปิดกรีดได้เมื่อถึงกำหนด ถ้าโรคเข้าทำลายคาคบอย่างรุนแรง อาจทำให้ต้นยางยืนต้นตาย

ลักษณะอาการ : เริ่มแรกเปลือกบริเวณคาคบหรือกิ่งก้าน จะมีรอยปริมีน้ำยางไหลติดอยู่ตามเปลือกเมื่ออากาศชื้นจะเห็นเส้นใยสีขาวที่ผิวเปลือกยาง แผลจะขยายเป็นบริเวณกว้างออกไป เมื่อเชื้อเจริญเต็มที่จะเป็นแผ่นสีชมพู บางกรณีมีตุ่มเล็ก ๆ สีแดงส้มปรากฏอยู่ประปราย เมื่อกิ่งก้านถูกทำลายอย่างรุนแรง ส่วนปลายกิ่งจะแห้งตาย และมีกิ่งอ่อนแตกออกมาใต้รอยแผล เพื่อเจริญเติบโตขึ้นใหม่ หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมแก่การเจริญลุกลาม เชื้อราจะพักตัว และสีชมพูที่เคยปรากฎจะซีดลงจนเป็นสีขาว เมื่อถึงฤดูฝนปีถัดไป จะเริ่มเจริญลุกลามต่อไป

การแพร่ระบาด : โรคนี้ระบาดรุนแรงในสภาพอากาศชุ่มชื้น มีปริมาณน้ำฝนสูง และเกิดรุนแรงมากในดินที่ขาดธาตุโบรอน เมื่ออากาศแห้งเชื้อราจะพักตัวและเจริญลุกลามต่อในฤดูปีถัดไป เชื่อระบาดโดยลม และฝน

คำแนะนำในการควบคุมโรค
  1. ดูแลรักษาสวนยางให้โปร่ง อากาศถ่ายแทสะดวก ไม่อับชื้น
  2. หลีกเลี่ยงการปลูกพันธุ์อ่อนแอในเขตอากาศชุ่มชื้นเช่น RRIM600
  3. ถ้าเป็นโรครุนแรงจนถึงกิ่งแห้งตาย และมีกิ่งใหม่งอกใต้รอยแผล ควรตัดแต่งกิ่งแห้งตายทิ้ง โดยตัดให้ต่ำกว่ารอยแผลประมาณ 2-3 นิ้ว แล้วทาสารเคมีเคลือบบาดแผล
  4. ขูดแผลแล้วใช้เบโนมิล (Benomyl), ไตรดีมอร์ฟ (tridemorph) หรือสารเคมีบอร์โดมิกซ์เจอร์ (Bordeaux mixture) ทาบริเวณแผล หรือฉีดพ่น

โรคเส้นดำ (Black Stripe)

โรคเส้นดำ

เกิดจากเชื้อรา Phytophthora botryose และ P. palmivora เป็นโรคทางลำต้นที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากทำลายหน้ากรีดซึ่งเป็นบริเวณที่เก็บเกี่ยวผลผลิต ทำให้หน้ากรีดเน่า ต้องหยุดกรีด และเปลือกงอกใหม่เสียหายไม่สามารถกรีดยางซ้ำบนหน้าเดิมได้ ทำให้ระยะเวลาการให้ผลผลิตขาดหายไปกว่าครึ่ง โรคนี้แพร่ระบาดในพื้นที่ที่เกิดโรคใบร่วง และฝักเน่าเป็นประจำ

ลักษณะอาการ : เหนือรอยกรีดจะมีลักษณะซ้ำ ต่อมาบริเวณรอยช้ำนี้จะเป็นรอยบุ๋มสีดำ และขยายตัวตามยาว บริเวณที่ไม่เป็นโรคจะมีเปลือกงอกใหม่หนาเพิ่มขึ้น จึงมองเห็นรอยบุ๋มของส่วนที่เป็นโรคชัดเจน เมื่อเฉือนเปลือกออกดู จะพบว่ารอยบุ๋มนั้นมีลายเส้นสีดำบนเนื้อไม้เป็นรอยยาวตามแนวยืนของลำต้น หากหน้ากรีดยางเป็นโรครุนแรง ทำให้เปลือกบริเวณที่เป็นโรคปริ มีน้ำยางไหลตลอดเวลา เปลือกที่เป็นโรคเน่าหลุดออก

การแพร่ระบาด :  เชื้อบนฝักและใบที่เป็นโรคถูกชะล้างน้ำฝนลงมาที่หน้ากรีด พบระบาดรุนแรงเมื่อกรีดยางติดต่อกันในฤดูฝนโดยไม่มีการป้องกันรักษาหน้ากรีด โดยเฉพาะเมื่อความชื้นสูงกว่า 90% หน้ากรีดจะเปือกอยู่ตลอดเวลา เหมาะต่อการขยายพันธุ์ของเชื้อ

คำแนะนำในการควบคุมโรค
  1. เขตที่มีการระบาดควรปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรค เช่น BPM24
  2. กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยาง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
  3. เมื่อพบโรคให้ใช้สารเคมี metalaxyl หรือ fosetyl-AI ทาที่หน้ากรีดเพื่อ้ป้องกันโรคเส้นดำ เนื่องจากเป็นเชื้อเดียวกัน
  4. ต้นยางใหญ่ที่เกิดใบร่วงอย่างรุนแรงจนใบร่วงหมด ควรรหยุดกรีดยาง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์

โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า

โรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า (phytophthora Leaf Fall)

เกิดจากเชื้อรา Phytophthora otryose และ P. palmivora ระบาดในช่วงฤดูฝน เชื้อสาเหตุทำลายส่วนต่าง ๆ ของต้นยางได้ทั้งฝัก ใบ กิ่งก้าน และหน้ากรีดยาง ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำ ค้างอยู่บนต้น ไม่แตก และร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งพักตัวของเชื้อที่สำคัญ ผลผลิตยางจะเริ่มลดลงถ้าเชื้อราระบาด จนทำให้ใบร่วงมากกว่า 20% และหากปล่อยให้โรคระบาดโดยไม่มีการควบคุมจนใบร่วงถึง 75% จะทำให้ผลผลิตลดลง 30-50%

ลักษณะอาการ : สังเกตุอาการได้เด่นชัดที่ก้านใบ โดยปรากฎรอยแผลช้ำสีน้ำตาลเข้มถึงดำตามความยาวของก้านใบ แผลบริเวณที่เป็นทางเข้าของเชื้อ มีหยดน้ำยางเล็ก ๆ เกาะติดอยู่ การเข้าทำลายที่ก้านใบนี้เองเป็นผลทำให้เกิดใบร่วงทั้งที่ใบยังมีสีเขียวสดอยู่ เนื่องจากเชื้อสร้างเนื้อเยื่อ abscission layer เมื่อนำมาสะบัดเบา ๆ ใบย่อยจะหลุดออกจากก้านใบโดยง่าย บนแผ่นใบย่อยเชื้ออาจเข้าทำลายที่ปลายใบ หรือขอบใบ เกิดแผลสีน้ำตาล มีลักษณะช้ำน้ำ ขยายติดต่อกันเป็นแผลใหญ่ ทำให้ใบเปลี่ยนเป้นสีเหลืองและแดงก่อนที่จะร่วง ในสภาพอากาศเหมาะสม ยางพันธุ์อ่อนแอ ใบจะร่วงหมด ทำให้ต้นอ่อนแอง และผลผลิตลดลงอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่าเชื้อนี้สามารถเข้าทำลายฝักยางได้ทุกระยะ ทำให้ฝักเน่า ถ้าความชื้นในอากาศสูงจะพบเชื้อราสีขาวเจริญปกคลุมฝัก ฝักที่ถูกทำลายจะเน่าดำค้างอยู่บนต้น ไม่แตกและร่วงหล่นตามธรรมชาติ กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคในปีถัดมา

การแพร่ระบาด : ความรุนแรงของการเกิดโรคขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน และจำนวนวันฝนตก อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25-28 องศา เชื้อนี้ต้องการน้ำเพื่อการขยายพันธุ์ จึงระบาดได้ดีในสภาพอากาศเย็น ฝนตกชุก มีความชื้นสูงต่อเนื่องกันอย่างน้อย 4 วัน โดยที่มีแสงแดดน้อยกว่า 3 ชั่วโมง ต่อวัน ส่วนขยายพันธุ์จะถูกทำลายโดยง่ายด้วยแสงแดดและสภาพอากาศแห้ง เชื้อราสร้าง  oospore และ chlamydospore ซึ่งเป็นสปอร์ผนังหนา เพื่อการดำรงชีวิตอยู่ข้ามฤดูในฝักยางที่เน่าแห้งอยู่บนต้น หรือบนส่วนของพืชที่ถูกทำลาย เมื่อได้รับสภาพอากาศเหมาะสม ส่วนของเชื้อที่พักตัวจะงอก สร้างส่วนขยายพันธุ์แพร่ระบาดไปตามหยดน้ำฝนทำลายส่วนอื่นต่อไป

คำแนะนำในการควมคุมโรค

  1. เขตที่มีการระบาดควรปลูกยางพันธุ์ต้านทานโรค เช่น BPM 24 และแหล่งปลูกยางที่เป็นเขตระบาดของโรค ไม่ควรปลูกยางพันธุ์ที่อ่อนแอ เช่น RRIM600
  2. กำจัดวัชพืชและตัดแต่งกิ่งในสวนยาง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความชื้นในสวนยาง
  3. เมื่อพบโรคให้ใช้สารเคมี metalaxyl หรือ fosetyl-AI ทาที่หน้ากรีดเพื่อป้องกันโรคเส้นดำ เนื่องจากเป็นเชื้อเดียวกัน
  4. ต้นยางใหญ่ที่เกิดใบร่วงอย่างรุนแรงจนใบร่วงหมด ควรหยุดกรีดยาง และใส่ปุ๋ยบำรุงต้นยางให้สมบูรณ์

โรคราแป้ง

โรคราแป้ง(Powery Mildew)

เกิดจากเชื้อรา Oidium heveae ซึ่งเป็น Obligate parasite เจริญบนเนื้อเยี่อพืชที่ยังมีชีวิตอยู่ มักระบาดบนใบยางอ่อนที่แตกออกมาใหม่ภายหลังจากการผลัดใบประจำปี จึงเป็นสาเหตุทำให้ใบยางร่วงอีกครั้งหนึ่ง และกิ่งแขนงบางส่วนอาจแห้งตาย ความรุนแรงของโรคจะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะการผลัดใบของต้นยาง อายุใบ ความอ่อนแอของพันธุ์ยาง สภาพพื้นที่ของแปลงปลูก และสภาพอากาศในช่วงที่ต้นยางแตกใบใหม่ โรคนี้นอกจากจะทำให้เกิดอาการทางใบแล้ว ยังทำให้ดอกร่วงสูญเสียเมล็ดในการขยายพันธุ์ การระบาดของโรคราแป้งทให้สูญเสียผลผลิตยางแห้งได้ถึง 30% หากตรวจพบแผลบนใบจำนวนมาก และใบร่วงมากกว่าครึ่งหนึ่งของทรงพุ่ม

ลัษณะอาการ : ใบยางที่ผลออกมาใหม่ในระยะที่ยังเป็นสีทองแดง จะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายมากที่สุด ปลายใบมีสีดำคล้ำก่อนที่จะร่วง ใบที่เป็นสีเขียวจะสังเกตเห็นกลุ่มของเส้นใยและสปอร์สีขาว-เทา ที่เชื้อราสร้างขึ้นบนผิวใบ โดยเฉพาะผิวใบด้านล่าง เนื้อเยี่อบริเวณที่เชื้อจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาลอ่อน และเกิดเป็นจุดแผลแห้งปรากฎบนใบจนกว่าใบย่อยจะหลุดร่วง หากเชื้อเข้าทำลายรุนแรงใบจะร่วงเกือบหมดต้น ทำให้อ่อนแอ อัตราการเจริญเติบโต การงอกเปลือกใหม่ และผลผลิตลดลง ในพื้นที่ลาดชันการเกิดใบร่วงซ้ำ ๆ กัน ทำให้ปริมาณอาหารสำรองในต้นมีไม่เพียงพอ จึงมีกิ่งแขนงบางส่วนแห้งตาย และมีเชื้อโรคชนิดอื่นเข้าทำลายซ้ำเติม ถ้าเชื้อเข้าทำลายดอกจะทำให้ดอกร่วงเหลือแต่ก้านดอก
การระบาด : อุณหภูมิ และความชื้นเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต การงอก การสร้างสปอร์และการเข้าทำลายเชื้อรา อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในอยู่ในช่วง 23-25 องศา และความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 90 % จึงมักแพร่ระบาดในสภาพอากาศเย็น ความชื้นสูง มีหมอกในตอนเช้า หรือมีฝนตกปรอย ๆ สลับกับแสงแดด เชื้อราอยู่ข้ามฤดูตามใบอ่อนที่แตกออกมาเป็นระยะ ๆ ในทรงพุ่ม หรือตามใบของต้นกล้ายางส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อนี้แพร่ระบาดได้ดีโดยลม มีรายงานว่า หญ้ายาง (Euphorbia hirta) ซึ่งเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งในสวนยางเป็นพืชอาศัยที่สำคัญ

คำแนะนำในการควบคุมโรค
  1. หลีกเลี่ยงพันธุ์อ่อนแอในเขตที่มีการระบาดรุนแรง เช่น PB235
  1. ปรับปุ๋ยยางให้มีธาตุไนโตรเจนมากขึ้นเพื่อเร่งใบอ่อนให้แก่เร็วขึ้น พ้นระยะอ่อนแอต่อการเข้าทำลาย
  1. กำจัดโดยการฉีดพ่นสารเคมี สำหรับต้นยางใช้ sulfur, carbendazim หรือ benomyl พ่นใบยางอ่อนทุกสัปดาห์ช่วงที่พบโรค

โรคใบจุดก้างปลา

โรคใบจุดก้างปลา (Corynespora Leaf Spot)

ระบาดในประเทศไทยครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2528 ที่ศูนย์วิจัยยางสุราษฏร์ธานี กับต้นยางใหญ่ พันธุ์ RRIC 103 ซึ่ง เป็นพันธุ์จากประเทศศรีลังกา และพันธุ์ RRIT 21 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ต้านทานต่อเชื้อ Phytophthora ต้องถูกตัดออกจากคำแนะนำพันธุ์ยางปี 2536

ลักษณะอาการ

เชื้อเข้าทำลายใบได้ทุกระยะ ช่วงใบอ่อนจะอ่อนแอต่อเชื้อมากที่สุด อาการบนใบมีตั้งแต่จุดแผลลักษณะกลม หรือรูปร่างไม่แน่นอน ขนาดเส้นผ่าเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 1-8 มม. จนถึงแผลขนาดใหญ่ กลางแผลมีสีน้ำตาลอ่อน ขอบแผลสีน้ำตาลเข้ม และมีวงสีเหลือง ล้อมรอบรอยแผล ลักษณะเด่นของแผลที่พบบนใบคือ เส้นใบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ มีลักษณะคล้ายก้างปลา ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเนื่องจากเชื้อสร้างสารพิษ (toxin) ตรงบริเวณเที่เข้าทำลาย แล้วแพร่กระจายไปตามเส้นใบ ทำให้เนื้อเยื่อใบตายการเข้าทำลายของเชื้อบริเวณเส้นกลางใบเพียงแผลเดียว ก็สามารถทำให้ใบร่วงได้ ถ้าเข้าทำลายที่เส้นใบย่อย ใบจะไม่หลุดร่วง จึบพบเห็นอาการก้างปลาอย่างชัดเจนบนใบ นอนจากนี้อาจพบแผลลักษณะค่อนข้างกลมที่มีการยุบตัวของเนื้อเยื่อซ้อนกันเป็นวง (concentric spots) ตรงกลางแผลที่แห้งอาจแตกขาดเป็นรู ซึ่งลักษณะอาการแบบนี้คล้ายกับอาการที่เกิดจากเชื้อ Colletotrichum
          โรคระบาดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางจะแสดงแค่อาการใบจุด แต่ในกรณีที่ระบาดรุนแรงจะทำให้ใบอ่อนไหม้ แห้งเหี่ยว ใบร่วง เมื่อแตกยอดใหม่ก็จะถูกเชื้อเข้าทำลาย และใบร่วงซ้ำอีก ทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต และเกิดอาการตายจากยอด หากดินมีความชื้นเพียงพอ จะมีการแตกยอดอ่อนขึ้นมาใหม่ใต้ส่วนที่แห้ง ยอดอ่อนสีเขียวที่ถูกทำลายจะเกิดแผลรูปกระสวย สีน้ำตาล ขยายไปตามความยาวของลำต้น ทำให้กิ่งแห้ง เปลือกแตกจนอาจก่อให้เกิดการยืนต้นตายในที่สุด เชื้อสามารถทำให้เกิดรอยแผลสีดำบนก้านใบ เป็นสาเหตุให้ใบร่วงได้โดยไม่จำเป็นต้องเกิดแผลบนใบ แปลงกล้ายางที่เกิดโรคระบาดจะไม่สามารถติดตาได้ตามกำหนดเวลา ระยะใบยางอ่อนจะอ่อนแอต่อโรคมาก แต่ในระยะใบยางแก่อาจพบแผลมีขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุดเท่านั้น

คำแนะนำในการควบคุมโรค

  1. ไม่ควรปลูกพันธุ์อ่อนแอในพื้นที่ที่สภาพอากาศเหมาะสมต่อการระบาดของโรค โดยเฉพาะพันธุ์ RRIC 103, RRIT 21, RRII 105, RRIC 110
  2. หลีกเลี่ยงการปลูกพืชแซมที่เป็นพืชอาศัย เช่น งา มะละกอ ถั่วเหลือ
  3. ต้นยางอ่อนใช้สารเคมี mancozeb, chlorothalonil หรือ benomyl ฉีดพ่นพุ่มใบยางทุก 7 วัน เมื่อเริ่มสังเกตพบอาการ
  4. หากพบโรครุนแรงควรแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบยางพารา เพื่อหามาตรการควบคุมโรค เนื่อจากจัดเป็นโรคร้ายแรง

โรคใบจุดคอลเลโทตริกัม

โรคใบจุดคอลเลโทตริกัม

เกิดจากเชื้อรา Colletorichum gloeosprides (Penz.) Sacc. โรคนี้ระบาดได้กับต้นยางทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะต้นกล้า จนกระทั่งเจริญเติบโตเต็มที่ สามารถเข้าทำลายใบ และกิ่งก้านที่มีสีเขียว บางครั้งกิ่งก้านเป็นโรครุนแรงมากจนทำให้ยอดแห้งตายไปด้วย

ลักษณะอาการ : ใบอ่อนที่เพิ่งแตกออกมาใหม่ จะอ่อนแอต่อการเข้าทำลายของเชื้อ โดยจะเริ่มทำลายที่ปลายใบเข้ามายังโคนใบ เกิดเป็นแผลสีน้ำตาลเข้ม ทำให้ใบผิดรูปผิดร่าง เหี่ยวแห้งและร่วงหล่นเหลือแต่ก้านใบ ในระยะนี้อาการโรคมักสับสนกับอาการของโรคราแป้ง และโรคใบจุดตานก ใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะมีความต้านทานต่อการทำลายตามธรรมชาติ จึงพบอาการเป็นจุดแผลบนใบจำนวนมาก จุดแผลมีลักษณะกลมสีน้ำตาล ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มิลลิเมตร ขอบแผลมีสีเหลืองเมื่อใบมีอายุมากขึ้น จุดเหล่านี้จะนูนจนสังเกตเห็นได้ชัด ถ้าระบาดรุนแรงในแปลงกล้า จะทำให้ใบร่วงโกร๋นเหลือแต่ลำต้น ต้นชะงักการเจริญเติบโต ติดตายาก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเปลือก การระบาดบนต้นที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว อาจมีผลต่อผลผลิต
          เนื่องจากเชื้อราทำให้เกิดใบร่วงซ้ำ ๆ กัน จนเป็นผลทำให้เกิดการตายของยอดอ่อน เชื้อจะเจริญลงมาเข้าทำลายส่วนตา และเจริญเข้าไปในลำต้น ทำให้กิ่งแขนงแห้งตาย หากเป็นรุนแรงทำให้ลำต้นแห้งตายได้ ในช่วงที่มีความชื้นสูง อาจพบกลุ่มสปอร์ของเชื้อสีส้มอ่อนหรือชมพูบนแผล
          ในสภาพดินเลว อาจพบอาการใบจุด และใบแห้งที่เกิดจากเชื้อ Colletotrichum heveae ในต้นยางเล็กที่ไม่สมบูรณ์ โดยอาการใบจุด และใบจุดมีลักษณะค่อนข้างกลม ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม เมื่อแผลมีอายุมากขึ้น กลางแผลจะมีสีซีดคล้ายอาการของโรคใบจุดตานก แต่จะมีขนาดใหญ่กว่า และมีโครงสร้างเชื้อราเป็นเส้นแข็ง สีดำ ถ้าแสดงอาการใกล้ขอบใบ ทำให้ขอบใบแห้งเป็นแผลค่อนข้างใหญ่ โดยที่บนแผลนั้นจะมีเส้นสีดำขึ้นเป็นวง ๆ อย่างเป็นระเบียบ โรคนี้จะทำให้ต้นยางชะงักการเจริญเติบโต แคระแกร็น

การแพร่ระบาด : เชื้อรานี้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานบนเศษซาก และเข้าทำลายพืชปลูกได้หลายชนิด สปอร์แพร่กระจายโดยลม และน้ำฝนกระเด็นไป อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกของสปอร์อยู่ในช่วง 26-29 องศา หากมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 96 % จะมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง การเข้าทำลายส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเมื่อมีความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 96% อุณหภูมิโดยรอบอยู่ระหว่าง 26-31 องศา และมีฟิล์มของน้ำเคลือบบนส่วนที่เข้าทำลาย

คำแนะนำในการควบคุมโรค

  1. บำรุงรักษาสภาพดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นยาง ใส่ปุ๋ยครั้งละน้อย แต่ให้บ่อยครั้ง และปรับปรุงการระบายน้ำเพื่อไม่ให้พื้นที่ปลูกมีความชื้นสูง
  2. ในแปลงกล้า ควรใช้สารเคมี Zineb, Benomyl, Chlorothalonil หรือ Propineb ฉีดพ่น ทุก ๆ 5 วัน
  3. สำหรับแปลงยางใหญ่นั้นยังไม่พบการระบาดรุนแรงในระดับที่ควรใช้สารเคมี

โรคใบจุดตานก

โรคใบจุดตานก (Birs's Eye Spot)

          เป็นโรคที่พบเสมอในแปลงกล้ายางที่ปลูกไว้เป็นต้นตอ และต้นยางในแปลงกิ่งตาสำหรับขยายพันธุ์ ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Drechslera heveae ทำให้ใบร่วง ลำต้นอ่อนแอ และชะงักการเจริญเติบโต จึงต้องใช้เวลานานกว่าต้นยางจะได้ขนาดติดตา ระบาดรุนแรงในดินทราย ดินร่วนปนทรายที่ไม่อุ้มน้ำ และขาดความอุดมสมบูรณ์ ใบที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และใบแก่จะต้านทานต่อโรค

ลักษณะอาการ

มีลักษณะแตกต่างกันตามอายุของใบและระยะเวลาในการเข้าทำลาย
  • ถ้าเชื้อราเข้าทำลายในระยะใบยังอ่อนมาก (ระยะที่ใบยังเป็นสีน้ำตาลแดง และยังมีการขยายขนาดอยู่) จะเกิดแผลช้ำน้ำสีดำ แผ่นใบหงิกงอ เหี่ยวแห้ง และร่วงในที่สุดซึ่งลักษณะอาการนี้จะไม่แตกต่างจากการเข้าทำลายของเชื้ออื่น
  • ถ้าเชื้อเข้าทำลายใบที่ขยายตัวเต็มที่แล้ว แต่ยังไม่แก่จัด (ใบมีอายุ 2-3 สัปดาห์) จะปรากฏจุดแผลค่อนข้างกลม ขอบแผลมีสีน้ำตาลล้อมรอบรอยซึ่งโปร่งแสง ขนาดของจุดมักมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-3 มิลลิเมตร เมื่อใบเจริญต่อไปจนแก่เต็มที่จะพบว่า ขอบแผลมีสีเหลืองล้อมรอบ
  • ถ้าเชื้อเข้าทำลายใบยางแก่ จะเห็นจุดเป็นเพียงรอยสีน้ำตาลเข้มเล็ก ๆ โดยทั่วไปจะพบลักษณะอาการทั้งสามแบบ เกิดขึ้นบนใบยางที่เป็นโรคอย่างรุนแรง กล่าวคือ ปลายใบเหี่ยวแห้ง และหลุดร่วงบางส่วน มีจุดแผลปรากฏบนใบมากมาย หากถูกเชื้อเข้าทำลายซ้ำ จะทำให้ใบยางร่วงติดต่อกัน ยอดชะงักการเจริญเติบโต และมีขนาดพองโตขึ้น อาจพบรอยแผลสีดำตามยอด และก้านใบ
การแพร่ระบาด :เชื้อราสร้างสปอร์ตรงกลางรอยแผลทางด้านล่างของแผ่นใบ สปอร์แพร่ระบาดโดยลม ฝน น้ำค้าง และการเสียดสีระหว่างต้นยาง การสัมผัสขณะทำงานจะช่วยให้เกิดการระบาดไปยังต้นข้างเคียงได้เป็นอย่างดี

คำแนะนำในการควบคุมโรค

  1. หลีกเลี่ยงการปลูกต้นกล้ายางในพื้นที่ดินทราย
  2. ใช้ปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกช่วยปรับโครงสร้างดินให้อุ้นน้ำได้ดีขึ้น
  3. ใช้สารเคมี Mancozeb,Propibeb,Chlorothalonil ใช้ฉีดพ่นทุก ๆ 7 วัน จนกว่าต้นยางจะมีใบฉัตรใหม่ที่สมบูรณ์ดี